วันพฤหัสบดีที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2555

มะเร็งเต้านม

                                     เต้านม
ประกอบด้วย ท่อน้ำนม  ต่อมน้ำนม ไขมัน และผิวหนัง ต่อมน้ำนม จะมีท่อเล็กๆของต่อมน้ำนมมารวมเป็นท่อใหญ่ แล้วเปิดที่หัวนม
   



มะเร็งเต้านม



                 เกิดจากเนื้อเยื่อของเต้านมมีการเปลี่ยนแปลงเป็นเซลล์มะเร็ง. อาจจะเกิดกับท่อน้ำนม หรือต่อมน้ำนม มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบมากที่สุด ร้อยละ 37 ของมะเร็งทั้งหมด และมีอัตราการเสียชีวิตเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งเต้านม







ปัจจัยเสี่ยง

1.อายุ > 40 ปีขึ้นไป

2.มีคนในครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม

3.ผู้ที่มีบุตรหลังอายุ 30 ปี รวมทั้ง หญิงที่ไม่เคยมีบุตร จะมีความเสี่ยงมากขึ้น

4.การกลายพันธุ์ของยีน เช่น การเกิดการกลายพันธุ์ของยีน BRCA1 หรือ BRCA2 สามารถทำให้เกิดมะเร็งเต้านม และสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้

5.ผู้หญิงที่มีเต้านมเต่งตึงกว่าอายุ และมีความหนาแน่นของเต้านมาก จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมมากกว่าคนปกติ

6.ผู้หญิงที่มีประจำเดือนก่อนอายุ 12 ปี หรือ ประจำเดือนหมดช้าหลังอายุ 55 ปี จะมีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านม ได้ง่ายกว่าคนปกติ

7.ผู้ที่รับประทานฮอร์โมนเพศหญิง รวมทั้ง ผู้ที่ได้รับยาคุมกำเนิดเป็นเวลานาน อาจเกิดมะเร็งเต้านมมากยิ่งขึ้น

8.การสูบบุหรี่ทำให้เพิ่มโอกาสในการเกิดเป็นมะเร็งเต้านมมากขึ้น

อาการ

        ระยะเริ่มต้นจะไม่มีอาการเจ็บหรือปวด เมื่อก้อนโตขึ้นจะทำให้เกิดอาการดังต่อไปนี้

1.คลำพบก้อนที่เต้านมหรือใต้รักแร้

2.มีการเปลี่ยนแปลงของขนาดเต้านม
 
 
 


3.มีน้ำไหลออกจากหัวนม หรือเจ็บ หัวนมถูกดึงรั้งเข้าในเต้านม





4.ผิวที่เต้านมจะมีลักษณะเหมือนเปลือกส้ม





ระยะของมะเร็งเต้านม

ระยะ 0 เป็นระยะเริ่มต้นของเซลล์มะเร็ง ซึ่งยังไม่ลุกลามไปยัง   เนื้อเยื่อเต้านม

ระยะ 1 ก้อนมะเร็งมีขนาดไม่เกิน 2 เซนติเมตร และยังไม่ลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง

ระยะ 2 ก้อนมะเร็งมีขนาดระหว่าง 2-5 เซนติเมตร ซึ่งอาจจะลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้หรือไม่ก็ได้ หรือมีขนาดไม่เกิน 2 เซนติเมตร   และลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้แล้ว แต่ยังไม่แพร่กระจายไปสู่อวัยวะอื่น



ระยะ 3 ก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่กว่า 5 เซนติเมตร และรุกรามเข้าต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้แล้ว แต่ยังไม่แพร่กระจายไปสู่อวัยวะอื่น

ระยะ 4 มะเร็งแพร่กระจายไปสู่อวัยวะอื่น ๆ แล้ว





      การตรวจคัดกรองมะเร็งในระยะแรกเริ่ม. ได้แก่
1.การตรวจเต้านมด้วยตัวเอง
2.การตรวจเต้านมโดยแพทย์หรือพยาบาล
3.การตรวจเต้านมด้วย แมมโมแกรม ( Mammography ) ซึ่งจัดว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการตรวจคัดกรอง

การตรวจเต้านมด้วยตัวเอง
                                            
                                                 

การตรวจ Mammography

            เป็นการตรวจเต้านมโดยใช้รังสีปริมาณน้อย แต่มีความคมชัดสูง การตรวจด้วยวิธีนี้สามารถทำให้การวินิจฉัยมะเร็งเต้านมได้เร็วกว่า การคลำถึง 2 เท่า ได้มีการแนะนำให้ผู้หญิงอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไปให้ตรวจเป็นประจำทุกปี




 การเตรียมตัวก่อนการตรวจ Mammography

1.แจ้งปัญหาของเต้านม ประวัติครอบครัว ประวัติส่วนบุคคลรวมทั้งประวัติการใช้ฮอร์โมน
2.ควรตรวจหลังจากหมดประจำเดือนไปแล้วหนึ่งสัปดาห์
3.ไม่ควรใช้น้ำหอมหรือใช้แป้งทาบริเวณรักแร้และเต้านมในวันที่จะตรวจ เนื่องจากจะทำให้รบกวนการตรวจ
4.ควรจะนำฟิมล์เก่าไปด้วยทุกครั้ง
5.ให้ฟังผลกับแพทย์ของท่านเท่านั้น

           เครื่อง Mamography เป็นเครื่อง x-ray ที่ใช้ตรวจเต้านมซึ่งต้องประกอบด้วยเครื่องที่ทำให้เกิดรังสีและส่วนที่ใช้บีบและตรวจเต้านม เมื่อให้รังสีแก่เต้านมรังสีบางส่วนจะถูกดูดซึมโดยเนื้อเยื่อเต้านม บางส่วนก็ผ่านไปยังฟิลม์ทำให้เกิดภาพขึ้นมา ระหว่างการตรวจจะต้องมีการบีบเต้านม ตรวจในแนวบนล่าง และแนวซ้ายขวา เพื่อ
      1.ทำให้เต้านมแบนราบ ไม่เคลื่อนไหว ภาพชัดเจน
      2.ไม่มีการรบกวนจากเนื้อเยื่อที่หนา

ก้อนที่เต้านมชนิดที่ไม่ใช่มะเร็ง  ที่พบบ่อยๆ ได้แก่

                1.Fibrocystic change เป็นชนิดที่พบได้บ่อยที่สุดไม่เป็นมะเร็ง ก้อนนี้เกิดจากการกระตุ้นของฮอร์โมนทำให้มีถุงน้ำ มักจะมีอาการ ปวดบริเวณก้อนก่อนมีประจำเดือน มักจะเป็นตอนอายุ 30-50 ปีมักจะเป็นสองข้างของเต้านม มีหลายขนาด ตำแหน่งที่พบคือ    บริเวณรักแร้ ก้อนนี้ขยับไปมาได้ เมื่อวัยทองก้อนนี้จะหายไป หากเป็นโรคนี้ไม่ต้องรักษา

                 2.Fibroadenomas มักจะเกิดในช่วงอายุ 20-40 ปีไม่ปวด ก้อนเคลื่อนไปมา การรักษาผ่าเอาออก

                  3.Traumatic fat necrosis เกิดจากการที่เต้านมได้รับการกระแทกและมีเลือดออกในเต้านม มักเกิดในคนที่มีเต้านมโต  ไขมันเกิดการอักเสบรวมกันเป็นก้อนซึ่งอาจจะปวดหรือไม่ก็ได้    ก้อนทั้งหมดจะไม่กลายเป็นมะเร็ง

การป้องกันมะเร็งเต้านม

           ที่สำคัญที่สุด คือ การค้นหาโรคตั้งแต่ยังไม่มีอาการเพื่อจะได้รีบรักษาก่อนที่จะลุกลาม   และสามารถป้องกันโดยลดปัจจัยเสี่ยงให้มากที่สุด  ด้วยการ

1.เปลี่ยนแปลงอาหาร เช่น ลดอาหารเนื้อแดง ลดอาหารมัน งดเกลือ

2.เลือกรับประทานอาหารพวก ผักและผลไม้

3.ควบคุมน้ำหนักมิให้อ้วน ออกกำลังกายอาทิตย์ละ 4 ชั่วโมง  ช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมได้

4.งดเว้นการสูบบุหรี่ และ แอลกอฮอล์


การรักษา
            ปัจจุบันเชื่อว่ามะเร็งเต้านมไม่ใช่โรคที่เป็นเฉพาะที่แต่เชื่อว่าเป็นโรคของทั้งระบบของร่างกาย(Systemic Disease) ดังนั้น อาจต้องใช้วิธีรักษาร่วมกันดังนี้



       1.การผ่าตัด จะทำ 2 ขั้นตอนโดยการตัดชิ้นเนื้อออกไปตรวจ เป็นบางส่วน หากผลออกมาเป็นมะเร็งจึงค่อยนัดมาผ่าตัด

       การผ่าตัด มี 2 แบบ คือ

1.1 ตัดเต้านมออกทั้งหมด คือจะตัดเต้านมข้างที่เป็นมะเร็งออกทั้งหมดรวมทั้งเลาะต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ออกไปด้วย เป็นการ  ผ่าตัดมาตรฐานที่ทำกันอยู่





1.2 ตัดเต้านมออกบางส่วน จุดประสงค์ก็คือ ต้องการเก็บ    เต้านมไว้เพื่อความสวยงามโดยอาจตัดออกไปกว้างขึ้นบริเวณที่        ก้อนเนื้องอกอยู่ แต่ว่าการผ่าตัดชนิดนี้ไม่สามารถทำได้ในผู้ป่วย    ทุกคน และสามารถทำได้ในกรณีที่ ก้อนไม่ใหญ่มาก   ยังคลำไม่พบต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้   และก้อนไม่ได้อยู่ตรงกลางหรือใกล้หัวนม
ผ่าแล้วเต้านมที่เหลือต้องดูสวย เพราะจุดประสงค์ใหญ่คือ           ความสวยงาม นั่นคือถ้าเอาเนื้องอกออกแล้วเต้านมผิดรูปมากไม่สวยก็ไม่ควรทำวิธีนี้






ผลข้างเคียงของการผ่าตัด

        เจ็บบริเวณที่ผ่าตัด   อาจมีการติดเชื้อ หรือแผลหายช้า
ปวดหลัง คอ จาก การตัดเต้านมไปข้างหนึ่งทำให้เสียสมดุล  เจ็บตึงหน้าอก แขนข้างที่ผ่าตัดจะมีแรงน้อยลง   มีอาการชาแขนข้างที่ผ่าตัด   บวมแขนข้างที่ผ่าตัด


       2. รังสีรักษา  Radiation therapy ใช้รังสีเพื่อฆ่าหรือหยุดการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง โดยทั่วไปให้ 5 วันต่อสัปดาห์ติดต่อกัน 5-6 สัปดาห์ บางครั้งอาจให้รังสีรักษา เคมีบำบัด หรือให้ฮอร์โมนก่อนการผ่าตัดเพื่อให้ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็กลง ง่ายต่อการผ่าตัด และ หลังผ่าตัดแบบไม่เอาเต้านมออกทั้งหมด ผู้ป่วยต้องได้รับการฉายแสงบริเวณเต้านมที่เหลือ
   สรุป ถ้า เอาเต้านมออกหมด ไม่ต้องฉายแสง แต่ถ้า เก็บเต้านม ต้องฉายแสง


โดยทั่วไปหลังการผ่าตัดจะต้องตามด้วยการฉายรังสี แต่ก็มีข้อยกเว้นไม่ต้องฉายรังสีคือ
  • ผู้ที่อายุมากกว่า 70 ปี
  • ขนาดก้อนเล็กกว่า 2 ซม และสามารถผ่าตัดออกได้หมด
  • มะเร็งยังไม่แพร่ไปต่อมน้ำเหลือง
  • ได้รับการรักษาด้วยฮอร์โมน
  • มะเร็งนั้นมี hormone receptor

ผลข้างเคียงของรังสีรักษา
           อ่อนเพลีย    ผิวหนังแห้ง แดง เจ็บ คัน    ก่อนใช้เครื่องสำอางควรปรึกษาแพทย์


       3. เคมีบำบัด  Chemotherapy ใช้ยาฆ่ามะเร็งอาจเป็นยาฉีดหรือยากิน โดยดูระยะของโรค ชนิดของ Cell. มักจะให้ระยะหนึ่งแล้วหยุด เพื่อป้องกันมะเร็งกลับเป็นซ้ำหลังการผ่าตัด  หรือเพื่อลดขนาดของก้อนมะเร็งก่อนผ่าตัด และเพื่อควบคุมโรคในรายที่มะเร็งแพร่กระจายไปที่อวัยวะอื่น

ผลข้างเคียงของเคมีบำบัด
                    ซีด เม็ดเลือดขาวต่ำ เกร็ดเลือดต่ำทำให้เหนื่อยง่าย.   ติดเชื้อง่าย และเลือดออกง่าย   ผมร่วง           เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน  เป็นหมัน


      4. ฮอร์โมน  Hormone therapy เพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งจะใช้ในรายที่ให้ผลบวกต่อ estrogen หรือ  progesterone receptor หลังจากการผ่าตัด

  ผลข้างเคียงของการใช้ฮอร์โมน

                  ยาจะยับยั้งการใช้ฮอร์โมนแต่ไม่ยับยั้งการสร้างฮอร์โมนทำให้ผู้ป่วยจะมีอาการ วูบวาบ. น้ำหนักขึ้น   ตั้งครรภ์ง่าย  คันช่องคลอด มีตกขาวควรตรวจภายในทุกปีและรายงานแพทย์เมื่อมีอาการผิดปกติ



คำแนะนำ

1.การเตรียมความพร้อมทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดย  1 วันก่อนผ่าตัด. ผู้ป่วย จะต้องทำความสะอาดร่างกาย อาบน้ำ สระผม ตัดเล็บ งดน้ำและอาหารหลังเที่ยงคืน

2.การลงนามยินยอมผ่าตัด

3. การปฏิบัติตัวหลังผ่าตัด.
         ผู้ป่วยเริ่มบริหารข้อไหล่ได้ตั้งแต่วันที่  2  หรือ  3  หลังการผ่าตัด เพื่อป้องกันข้อหัวไหล่ติดยึดและเพื่อเพิ่มกำลังให้กับแขน.   รายที่ แขนบวมหลังผ่าตัด. ให้ยกแขนไว้บนหมอนเวลานอน





             การบริหารข้อไหล่ เพื่อป้องกันไหล่ติด
มี 4 ท่า คือ
             1.  ท่าแกว่งแขนเป็นวงกลม
             2.   ท่าไต่ผนัง
             3.   ท่าดึงเชือกขึ้นลง
             4.    ท่าแกว่งเชือกเป็นวงกลม

          ท่าแกว่งแขนเป็นวงกลม : ให้ผู้ป่วยยืนข้างเตียงหันแขนขวาเข้าหาเตียง และเอามือเท้าขอบเตียงไว้ ขณะเดียวกัน ให้ผู้ป่วยก้มหลังลงเล็กน้อยพร้อมกับทิ้งแขนลงตามธรรมชาติ หลังจากนั้นให้ผู้ป่วยแกว่งแขน เป็นวงกลม เริ่มด้วยการแกว่งแขนตามเข็มนาฬิกา 5 รอบ ในขณะที่ผู้ป่วยแกว่งแขน ข้อศอกต้องเหยียดตรง ควรบริหารวันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 5 รอบ



     
ท่าไต่ผนัง : ให้ผู้ป่วยยืนตรงหน้าเข้าหาฝาผนัง ห่าง ประมาณ 6 นิ้ว ปลายเท้าทั้ง 2 ห่างจากกันเล็กน้อย และ งอข้อศอกหงายฝ่ามือทั้งสองไปข้างหน้าจนมือแตะกับฝาผนังและมืออยู่ในระดับ เดียวกับไหล่ หลังจากนั้นใช้ปลายนิ้วมือทั้งสองไต่ขึ้นไปบนฝาผนังจนแขนเหยียดตรง แล้วจึงค่อยๆ เลื่อนมือลงจน อยู่ในระดับเดียวกับไหล่ ควรบริหารวันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 5 รอบ





        ท่าดึงเชือกขึ้นลง  :  ใช้เชือก  1  เส้น  ยาวประมาณ  5-6  ฟุต  คล้องกับเสาน้ำเกลือขณะที่ผู้ป่วยอยู่ใน โรงพยาบาล  หรือคล้องกับราวเหนือศีรษะขณะที่ผู้ป่วยอยู่ที่บ้าน  ให้ผู้ป่วยนั่งหรือยืนพร้อมกับใช้มือทั้งสองข้าง จับปลายเชือก ไว้ข้างละปลาย  หลังจากนั้นให้ผู้ป่วยดึงเชือกขึ้นจนสุด  และดึงเชือกลงจนสุด  ในขณะที่ผู้ป่วยดึงเชือก
ขึ้นลงนี้แขนของผู้ป่วยต้องเหยียดตรงและกางออก  ควรบริหาร
วันละ  2  ครั้ง  ครั้งละ  5  รอบ






        ท่าแกว่งเชือกเป็นวงกลม  :  ใช้เชือก  1  เส้น  
ยาวประมาณ  5-6  ฟุต  ผูกปลายเชือกข้างหนึ่งไว้กับปุ่มล็อค
ของประตู  ให้ผู้ป่วยยืนถือปลายเชือกข้างที่เหลือ  หลังจากนั้นให้
ผู้ป่วยแกว่งเชือกเป็นวงกลม  เริ่มด้วยแขนซ้ายก่อน และตามด้วย
แขนขวา  ในขณะที่ผู้ป่วยแกว่งเชือกเป็นวงกลม  ข้อมือและข้อศอกของผู้ป่วยต้องเหยียดตรง  ผู้ป่วยควร บริหารข้อไหล่ด้วยการแกว่งเชือกเป็นวงกลมวันละ  2  ครั้ง  ครั้งละ  5  รอบ

 




โรงพยาบาลอานนันทมหิดล ของเรา มีศัลยแพทย์ผู้เชียวชาญด้านนี้ โดยเฉพาะอยู่ 1 ท่านค่ะ
ชื่อ                            พ.ท.นิกร ไวประดับ 

     ออกตรวจ OPD เต้านม   โดยเฉพาะ ทุกวันจันทร์ 8.30-12.00 น ที่ OPD ศัลยกรรม
และที่โรงพยาบาลของเรา มีเครื่องตรวจ Mammography สงสัยโทรมาปรึกษา ตามเบอร์โทร ในบทความแรกๆนะค่ะ ถ้าหากไม่พบแสดงว่า อ่านเรื่องราว ของเร    ชาว ห้องผ่าตัด รพ อานันทมหิดล   ลพบุรี ไม่ครบถ้วนค่ะ
พบกันใหม่เรื่องต่อไปนะค่ะ หมั่นตรวจเต้านม
ตามคำแนะนำ หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง
ถ้าพบความผิดปกติ
ให้หมอตรวจ ตามวันและเวลานะค่ะ

















 

วันพุธที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ก้อนเนื้อหรือถุงน้ำบริเวณข้อมือ

(Carpal ganglion)

     เป็นก้อนถุงน้ำพบบ่อยบริเวณหลังข้อมือ ส่วนใหญ่จะเป็นถุง ซึ่งบรรจุน้ำข้นเหนียว ลักษณะเดียวกันกับน้ำไขข้อ อยู่ภายใน ก้อนที่พบอาจมีขนาดตั้งแต่เมล็ดถั่ว จนถึงขนาดปลายนิ้วหัวแม่มือ อาจยึดแน่นอยู่กับข้อมือ หรืออาจมีการเคลื่อนที่ได้ เล็กน้อย





อาการ

     เป็นก้อนนูนขึ้น   ค่อนข้างแข็ง ผิวเรียบ และไม่เคลื่อนที่ กดไม่เจ็บ   อาจปวดข้อมือเล็กน้อย  เคลื่อนไหวข้อไม่สะดวก  เนื่องจากก้อนถุงน้ำ ไปกดเบียด  เส้นเอ็นหรือเยื่อบุข้อ  ถ้ากระดกข้อมือขึ้น  หรือ งอข้อมือลง  จะทำให้ขนาดของก้อนถุงน้ำเปลี่ยนแปลง   ถ้าปล่อยไว้ก้อนจะค่อยๆโตอย่างช้า ๆ อาจใช้เวลา นานหลายเดือน หรือ เป็นปี





สาเหตุ

      ยังไม่ทราบแน่ชัด เชื่อว่าเกิดจากการเสื่อมสลายของเนื้อเยื้อหุ้มข้อมือจึงเกิดเป็นจุดอ่อนขึ้นจนทำให้น้ำหล่อเลี้ยงข้อมือรั่วออกมา เกิดเป็นถุงน้ำขึ้น อาจมี ประวัติ การบาดเจ็บจากการกระทบกระแทก หรือ อาจเป็นผลจากการทำงานโดยเฉพาะงานที่ต้องมีการ กระดกข้อมือขึ้นลงบ่อย ๆ พบบ่อยในผู้หญิง ช่วงอายุ 20 - 40 ปี

การป้องกัน

      ไม่มีวิธีป้องกัน

การรักษา

       ก้อน (ถุงน้ำ) ที่เกิดขึ้นอาจยุบหรือหายไปเองได้ การนวดที่ก้อนอาจช่วยทำให้ ก้อนยุบได้ หรืออาจใช้เข็มฉีดยาดูดน้ำออก แต่มีโอกาสเกิดถุงน้ำขึ้นอีกได้มาก แพทย์อาจทำการผ่าตัดโดยตัดถุงน้ำนี้  ออกจากบริเวณเยื่อหุ้มข้อมือ ซึ่งทำให้มีโอกาสเกิดถุงน้ำ ขึ้นใหม่ได้น้อยลง



การผ่าตัด

        แพทย์จะนัดผู้ป่วยแบบผู้ป่วยนอกทำแล้วกลับบ้านได้ ไม่ต้องค้างคืนที่โรงพยาบาล แพทย์จะฉีดยาชาเฉพาะที่บริเวณรอบๆ ก้อน แล้วก็เลาะเอาก้อนออก ขนาดแผลขึ้นอยู่กับขนาดก้อนคะ. ถ้ามีหลายก้อนก็จะต้องผ่าตัดเอาก้อนออกให้หมด ในกรณีที่ช่องต่อเข้าไป ในข้อมือมีขนาดใหญ่ก็  จะต้องตัดเยื่อหุ้มข้อมือบางส่วนออกไปด้วยแล้วเย็บซ่อมช่องที่เชื่อมต่อเข้าไปในข้อมิฉะนั้นจะทำให้มีโอกาส เป็นซ้ำ อีกได้ ถ้ารักษาด้วยวิธีผ่าตัดจะมี โอกาสเป็นซ้ำประมาณ 5-15 %

การปฏิบัติตัวหลังการผ่าตัด

1.แขวนแขนไว้หลังผ่าตัดเสร็จ1วันป้องกันปลายมือบวม

2. แผลผ่าตัดเป็นแผลสะอาด ไม่จำเป็นต้องล้างทำความสะอาดแผล

3. ห้ามแผลเปียกน้ำโดยเด็ดขาดหากเปียกน้ำให้ทำความสะอาดแผลที่สถานีอนามัยใกล้บ้านหรือโรงพยาบาลใกล้บ้าน

4. หมั่นบริหารมือหลังผ่าตัด โดยวิธีกำมือ แบมือบ่อยๆ เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนโลหิต   ลด อาการบวม และเป็นการบริหารเส้นเอ็นให้ เคลื่อนที่ผ่านได้ดีขึ้น

5. หากผ้าพันแผลรัดแน่นเกินไป สามารถแก้พันใหม่ให้หลวมได้ หลังผ่าตัด 6ชม. แต่อย่าเปิดผ้าปิดแผลออกโดยเด็ดขาด

6. หากเกิดอาการปวด ให้รับประทานยาแก้ปวดตามแพทย์สั่ง ถ้ามีบวมหรือมีเลือดออกมากให้มาพบแพทย์ที่      โรงพยาบาลทันที

7. มาตรวจตามแพทย์นัด หรือหากไม่พบอาการผิดปกติใดๆ ให้ตัดไหมที่สถานีอนามัยใกล้ตามแพทย์นัดได้ปกติภายใน 2 อาทิตย์

รพ.อานันทมหิด มีแพทย์ชำนาญด้านกระดูกและข้อ ฝีมือดี  4 ท่าน ด้วยกัน  ค่ะ ได้แก่
       1.พ.อ.ชูสิทธฺิ์
       2. พ.อ. ธีรวัฒน์
       3.พ.ท.ชัยพร
       4.พ.ต.รัฐศิริ
ใข้เวลาผ่าตัด ประมาณ 8 - 15 นาที  แต่อาจจะรอผ่าตัดนานนิดหนึ่ง เพราะ แพทย์จะนัดผ่าตัดวันละ 4-5 คน มากสุด ไม่เกิน 10 คน ค่ะ สบายใจได้   
   ค่าผ่าตัด ประมาณ  850 - 1200 บาท ค่ะ    ทีมห้องผ่าตัดพร้อมแล้วค่ะ แล้วคุณพร้อมหรือยัง แพทย์จะออกตรวจทุกวัน จันทร์ และพุธ  8.00-12.00 ค่ะ  นอกเวลา วันพฤหัส เวลา 16.00-20.00 น   แพทย์ตรวจแล้ว นัดเจอกันที่ห้องผ่าตัด ชั้น 2 ตึกกัลยาณิวัฒนา นะค่ะ  ติดตามกันใหม่เรื่องต่อไปนะค่ะ




วันพุธที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2555

นิ่วในถุงน้ำดี

        (gallstone)
        เกิดจากการหลั่งโคเลสเตอรอลออกมาในน้ำดี มากเกินปกติ ร่วมกับการติดเชื้อเรื้อรัง แบบไม่รู้ตัว ทำให้มีการดูดซึมน้ำและกรดน้ำดีออกไปจากน้ำดี   เป็นเหตุให้มีการตกผลึกของ โคเลสเตอรอลแงะมีแคลเซียม (หินปูน) จับตัว กลายเป็นก้อนนิ่วในถุงน้ำดี  ซึ่งอาจเป็นก้อนนิ่วเดี่ยว หรือหลายก้อน
            พบ 5-10% ของประชากร
            เพศหญิง>ชาย  2-3 เท่า
            อายุ > 40 ปี, ในคนอายุเกิน 70 ปี พบ 15-30%





 



อาการ


1. ไม่มีอาการ : นิ่วในถุงน้ำดี ส่วนใหญ่ (มากกว่า 50%) ไม่มีอาการ และในกลุ่มนี้จะมีโอกาสเกิดอาการขึ้นได้ ประมาณ 1-2% ต่อปี

2.  มีอาการ

     2.1 ท้องอืด แน่นท้อง (Dyspepsia) : โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังรับประทานอาหารมัน ซึ่งอาการแบบนี้ อาจเกิดจากโรคระบบ ทางเดินอาหารอื่น เช่น โรคกระเพาะอาหารหรือ โรคของลำไส้ใหญ่ ก็ได้
 
 


     2.2 ปวดเสียดท้อง (Biliary colic) :  อาการปวดท้องบริเวณใต้ชายโครงขวา หรือลิ้นปี่. ลักษณะปวดบิดเกร็งเป็นพักๆ (แบบท้องเดิน) อาจมีอาการปวดร้าวไปที่ไหล่ขวาหรือบริเวณหลังตรงใต้สะบักขวา มักปวด นานเป็นชั่วโมง อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ซึ่งมักเป็นหลังรับประทานอาหารมัน แต่อาการอาจเป็นอยู่นานหลายชั่วโมง (แต่มักไม่เกิน 8 ชั่วโมง) แล้วค่อยกลับเป็นปกติ อาจร้าวไปสะบักขวา หรือที่หลัง


สาเหตุ มี 3 ปัจจัยหลัก คือ

ความอิ่มตัวของน้ำดี
การบีบตัวของถุงน้ำดีไม่ดี หรือมีการอุดตันของทางเดินน้ำดี
การติดเชื้อในทางเดินน้ำดี
      ปัจจัยอื่น ๆ เช่น ความอ้วน, เบาหวาน, โรคโลหิตจางบางชนิด, อาหารไขมัน, เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พบว่ามีอุบัติการณ์ของโรคนี้ สูงขึ้น
      นิ่วในถุงน้ำดี หากไม่มีอาการ ส่วนใหญ่ไม่มีข้อบ่งชี้ว่า จะต้องผ่าตัด, เพราะ อาจไม่มีอาการเลยตลอดชีวิต,ยกเว้นในคนไข้บางกลุ่ม ที่แพทย์อาจแนะนำให้ผ่าตัด เช่น อายุน้อย (เพราะว่า มีโอกาสเกิดอาการขึ้นมาได้ในอนาคต), โรคโลหิตจางบางชนิด เป็นต้น
ส่วนนิ่วในถุงน้ำดี ที่มีอาการ หรือมีภาวะแทรกซ้อนแล้ว ควรได้รับการผ่าตัด


การรักษานิ่วในถุงน้ำดี
การผ่าตัดโดยใช้การดมยาสลบให้ผู้ป่วยหลับ

1. การผ่าตัดเอาถุงน้ำดีออก โดยการ ผ่าตัดเปิดหน้าท้องบริเวณ
ใต้ชายโครงขวา
(Open Cholecystectomy)  วิธีนี้ จะมีแผลผ่าตัดที่ยาว ประมาณ 10 ซม. จากนั้นศัลยแพทย์ก็จะใช้มือและเครื่องมือลงไปตัดเลาะเนื้อเยื่อ ผูกหลอดเลือดที่มาเลี้ยงถุงน้ำดี ตัดท่อถุงน้ำดี และเลาะถุงน้ำดีออกจากตับ การผ่าตัดแบบนี้ทำให้มีการชอกช้ำของเนื้อเยื่อเป็นบริเวณกว้าง ซึ่งทำให้ระยะพักฟื้นนาน ความเจ็บปวดภายหลังการผ่าตัดมีค่อนข้างมากและแผลไม่สวย แต่ก็มีข้อดีที่ศัลยแพทย์สามารถตัดเลาะเนื้อเยื่อที่เหนียวหนาได้ดีกว่าและได้ใช้การคลำ และแยกเนื้อเยื่อด้วยมือซึ่งช่วยกับการมองทำให้เพิ่มความปลอดภัยในรายที่ยาก ซับซ้อน มีความผันแปรทางกายวิภาค หรือมีการอักเสบรุนแรงเรื้อรัง รวมทั้งควบคุมภาวะเลือดออกได้ดีด้วย


2. การผ่าตัดเอาถุงน้ำดีออก โดยใช้กล้องส่องผ่านหน้าท้อง (Laparoscopic Cholecystectomy)
วิธีนี้ กำลังเป็นที่นิยม และทดแทนการผ่าตัดวิธีเดิม  เนื่องจากมีแผลผ่าตัดที่เล็กลง (เป็นแผลเล็ก ๆ จำนวน 4 แผล ขนาด 0.5-1 ซม. เท่านั้น แต่ก็มีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น เนื่องจากมีการใช้ กล้องและอุปกรณ์พิเศษเพิ่มเติมหลายอย่าง.

           วิธีการผ่าตัดแบบใช้กล้องส่องเริ่มจากมีดเปิดแผลที่ใต้ลิ้นปี่และชายโครงขวา 3-4 แผลเล็กๆ แล้วใส่เครื่องมือที่จะทำการตัดเลาะถุงน้ำดี ภายในช่องท้องก็จะมีการใส่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ความดันต่ำ เพื่อช่วยให้มีเนื้อที่ว่างที่จะทำให้ศัลยแพทย์มองเห็นอวัยวะต่าง ๆ ได้อย่างชัดเจน ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มีคุณสมบัติที่เหมาะสม เนื่องจากมีในธรรมชาติทั่วไป ไม่ติดไฟ จึงไม่มีปฏิกิริยากับเครื่องจี้ไฟฟ้าที่ใช้ห้ามเลือดระหว่างผ่าตัด และละลายน้ำได้ดี รวดเร็ว จึงไม่หลงเหลือค้างหลังจากผ่าตัดเสร็จ

ศัลยแพทย์จะเลอะโครงสร้างต่างๆบริเวณถุงน้ำดีจนเห็นหลอดเลือดต่าง ๆ และท่อของถุงน้ำดีชัดเจน แล้วจึงทำการตัดเลาะถุงน้ำดีออกจากผู้ป่วยพร้อมนิ่ว โดยมักจะใช้ Clip โลหะสังเคราะห์ที่มีความแข็งแรงและปฏิกิริยาต่อร่างกายน้อยมาก หนีบหลอดเลือดและท่อของถุงน้ำดีไว้ จากนั้นจะห้ามเลือดที่ซึมจากบริเวณต่าง ๆ ที่ผ่าตัดด้วยจี้ไฟฟ้า


















ในรายที่สงสัยว่าจะมีนิ่วในท่อน้ำดีหลักร่วมด้วย ศัลยแพทย์ก็สามารถที่จะฉีดสารทึบแสงผ่านท่อพลาสติกขนาดเล็กเข้าไปในท่อน้ำดีหลัก แล้วใช้เครื่อง X-ray ในห้องผ่าตัดเพื่อดูภาพในท่อน้ำดีของตับได้อย่างชัดเจน ถ้าพบนิ่วก็สามารถจะพิจารณาเอาออกได้ โดยผ่านทางกล้องในรายที่เหมาะสม

ถุงน้ำดีมักถูกนำออกจากช่องท้องโดยใส่มาในถุงพลาสติกมีหูรูดขนาดเล็ก วิธีนี้มีข้อดีตรงที่เอาถุงน้ำดีออกผ่านแผลเล็ก ๆ ได้ง่ายขึ้น ถุงน้ำดีไม่แตกเลอะเทอะระหว่างกระบวนการ และไม่มีการปนเปื้อนของเซลล์จากถุงน้ำดีมายังผนังหน้าท้อง (ในกรณีที่อาจมีเนื้องอกแฝงเร้นอยู่) แผลขนาดเล็กจะถูกเย็บด้วยไหมละลายและศัลยแพทย์อาจจะฉีดยาชาเฉพาะที่ที่ปากแผล ซึ่งจะช่วยให้หลังผ่าตัดผู้ป่วยเจ็บแผลน้อยลง หลีกเลี่ยงการขอยาฉีดหลังผ่าตัดซึ่งมักมีผลข้างเคียง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน








หลังผ่าตัดเมื่อผู้ป่วยฟื้นดีจากยาสลบก็มักให้เริ่มจิบน้ำและทานอาหารเหลวได้ จากนั้นในมื้อถัดไปก็เป็นอาหารอ่อน เมื่อทานได้ดีก็สามารถเอาน้ำเกลือออกได้ ผู้ป่วยที่ได้รับยาแก้ปวดแบบรับประทานที่มีประสิทธิภาพสูง มักไม่ต้องใช้ยาฉีด ผู้ป่วยจะค้างคืนในโรงพยาบาลประมาณ 1-2 คืนจึงกลับบ้าน

      ภาวะแทรกซ้อนของการผ่าตัด

              ที่พบได้ในการผ่าตัดถุงน้ำดีด้วยกล้องส่องได้แก่ ภาวะเลือดออก การบาดเจ็บต่อท่อทางเดินน้ำดี การรั่วของน้ำดี การติดเชื้อภายในช่องท้องและแผลผ่าตัด ภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวพบได้น้อย แต่จะพบได้มากขึ้นในรายที่ทำผ่าตัดยาก ในรายที่มีการอักเสบรุนแรง หรืออักเสบเรื้อรังมานาน ผู้ป่วยที่มีโครงสร้างของท่อน้ำดีและหลอดเลือดผันแปรไปจากคนปกติ  จึงต้องตัดสินใจเป็นการผ่าตัดเปิดหน้าท้องหลังทำแบบใช้กล้องส่อง



ข้อดีของการผ่าตัดถุงน้ำดีออกโดยใช้กล้อง

1. อาการปวดเจ็บที่แผลผ่าตัดมีน้อยกว่า

2. ระยะเวลาที่ต้องอยู่ ร.พ. สั้นกว่า (ประมาณ 1-2 วัน หลังผ่าตัด, เทียบกับ 5-7 วัน ในการผ่าตัดแบบเดิม)

3. การกลับไปปฏิบัติหน้าที่การงานหลังการรักษาเร็วกว่า

4. แผลผ่าตัดสั้นกว่า จึงมีผลต่อความสวยงามของหน้าท้อง




ข้อเสีย

1. ต้องใช้เครื่องมือพิเศษบางอย่าง ทำได้เฉพาะใน ร.พ. เพียงบางแห่ง

2. ค่าใช้จ่ายที่สูงกว่า

3. ต้องใช้ศัลยแพทย์ที่มีความสามารถในการผ่าตัดวิธีนี้

คำถาม..ตัดแล้วไม่มีถุงน้ำดี เอาอะไรย่อไขมัน ....

ถุงน้ำดีไม่ใช่อวัยวะสร้างน้ำดี ดังนั้นเมื่อตัดออก น้ำดีซึ่งสร้างที่ตับ ก็จะหลั่งลงมาในท่อน้ำดีและเข้าสู่ลำไส้โดยตรง ในระยะแรกหลังผ่าตัด การหลั่งของน้ำดีซึ่งเปลี่ยนไปอาจไม่พร้อมมื้ออาหาร ทำให้มีการระคายเคืองลำไส้ และมีท้องเสียได้ ซึ่งจะเป็นอยู่ระยะหนึ่งหลังผ่าตัด ส่วนมากไม่ต้องการการรักษาใด ๆ ส่วนน้อยอาจใช้ยาควบคุมเป็นระยะสั้น น้ำดีที่หลั่งจากตับมีความเข้มข้นน้อยกว่าจากถุงน้ำดี จึงมักแนะนำให้เลี่ยงอาหารมันมาก ๆ ก่อน จากนั้นจึงค่อย ๆ เพิ่มปริมาณไขมัน ในที่สุดก็จะทานได้เหมือนคนปกติ ถ้าผู้ป่วยเคยมีจุกแน่นเวลาทานอาหารมันก่อนผ่าตัด ก็จะทานได้ดีขึ้นกว่าเดิม ผู้ป่วยบางรายอาจต้องใช้ยาขับลม ยาช่วยย่อยอยู่บ้างในช่วงแรก ก่อนจะเข้าสู่ภาวะปกติ ผู้ป่วยสูงอายุแม้จะทานอาหารมันได้ดีหลังผ่าตัดถุงน้ำดี แต่ก็ไม่ควรทานเนื่องจากไม่ดีต่อหลอดเลือดและหัวใจ

คำแนะนำทั่วไปสำหรับผู้ป่วยผ่าตัด

1.การเตรียมตัวมานอนโรงพยาบาล โดยเตรียมของใช้ส่วนตัวที่จำเป็น ผู้ป่วยที่จะรับการผ่าตัดจะต้องมานอนโรงพยาบาล เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับการผ่าตัด

2.การเตรียมความพร้อมของผู้ป่วยทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดย  1 วันก่อนผ่าตัดผู้ป่วย จะต้องทำความสะอาดร่างกาย อาบน้ำ สระผม ตัดเล็บ งดน้ำและอาหารหลังเที่ยงคืน

3.การลงนามยินยอมผ่าตัดผู้ป่วยที่บรรลุนิติภาวะที่มีความสมบูรณ์ทั้งทางร่างกายและจิตใจที่มีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ให้ลงนามยินยอม รักษาโดยการผ่าตัดด้วยตนเอง   หากผู้ป่วยที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะให้ผู้ปกครองลงนามยินยอม  และเตรียมญาติเพื่อเป็นพยาน ในการลงนามยินยอมในการรักษาโดยการผ่าตัด

4.การเตรียมค่าใช้จ่ายในการเสียส่วนเกินหากผู้ป่วยเลือกการรักษาโดยการผ่าตัดด้วยกล้องวิดีทัศน์

5.การปฏิบัติตัวหลังผ่าตัด หลังผ่าตัดหากผู้ป่วยมีอาการปวดแผลแจ้งเจ้าหน้าที่หอผู้ป่วยเพื่อรับยาแก้ปวดตามแผนการรักษา หากมีอาการผิดปกติเช่นปวดแผลมาก ท้องอืดแข็งตึงหรือมีไข้แจ้งเจ้าหน้าที่ประจำหอผู้ป่วย

6.การปฏิบัติตัวเมื่อกลับไปอยู่ที่บ้าน การรับประทานอาหาร ในช่วง 4- 6 สัปดาห์หลังผ่าตัด ควรรับประทานอาหารที่มีไขมันน้อย และ มีแคลอรีสูง ได้แก่ เนื้อสัตว์ต่างๆ แป้ง  และจำพวกวิตามินซึ่งมีในพวกผักผลไม้ต่างๆ หลังจากนั้นผู้ป่วยรับประทานอาหาร ได้ตามปกติ เพราะ น้ำดีสามารถไหลผ่านไปยังลำไส้เล็กส่วนต้นได้ดีมากขึ้น เพื่อช่วยย่อยไขมัน แต่ต้องระวังไม่ให้รับประทาน อาหารที่มีไขมันมากเกินไป

7.การสังเกตอาการผิดปกติของตนเอง เช่นปวดท้อง มีไข้หนาวสั่น คลื่นไส้ อาเจียน แนะนำให้ไปโรงพยาบาลหรือสถานี อนามัยใกล้บ้าน

8.การพักผ่อนและการออกกำลังกาย แนะนำให้ผู้ป่วยพักผ่อนอย่างเพียงพอประมาณวันละ 6 -8 ชั่วโมง และให้มีกิจวัตรประจำวัน ได้ตามปกติ และสามารถออกกำลังกายตามความเหมาะสมตามสภาพร่างร่างกาย

9.การทำงาน หลีกเลี่ยงการทำงานหนักในระยะแรกหลังผ่าตัด 3 เดือน หากจำเป็นต้องเริ่มทำงานก็สามารถทำได้ โดยหลีกเลี่ยง การยกของหนัก 6 สัปดาห์ หลังจากครบ  3 เดือน  ผู้ป่วยสามารถเริ่มทำงานหนักได้

10.การรับประทานยา รับประทานยาให้ถูกต้องตามแผนการรักษาของแพทย์พร้อมทั้งสังเกตอาการที่จะเกิดขึ้นจากการแพ้ยา เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ผื่นขึ้น ให้รีบกลับมาพบแพทย์

11.การทำความสะอาดแผลและการตัดไหม ส่วนใหญ่เย็บด้วยไหมละลาย หากผู้ป่วยที่ที่ต้องตัดไหมให้ไปตัดไหมที่โรงพยาบาล และสถานีอนามัยใกล้บ้าน

12.การมาตรวจตามนัด ควรมาพบแพทย์ตามวันเวลาที่แพทย์กำหนดในใบนัด โดยต้องนำบัตรประจำตัวโรงพยาบาล ใบนัดและบัตรประจำตัวประชาชนมาด้วยทุกครั้งที่มาพบแพทย์



ศัลยแพทย์ โรงพยาบาลอานันทมหิดล ที่มีฝ๊มือดี สามารถทำผ่าตัดแบบผ่านกล้องมี 4 ท่านนะ  ได้แก่
     พ.อ. นิมิตร  สะโมทาน
     พ.อ.เมธา    เที่ยงคำ
     พ.ท.ยุทธพล   ศรีหานนท์    และ   พ.ท.นิกร ไวประดับ
สำหรับท่านที่เห็นกำลังผ่าตัด และเห็น แต่ลูก กะ ตา คือ    พ.อ.เมธา เที่ยงคำ  ค่ะ
 ท่านที่มีปัญหาและมีอาการดังกล่าว เรียนเชิญปรึกษาได้ที่ OPD ศัลยกรรม ได้ทุกวันราชการ
8.00-12.00 น  นะค่ะ












วันศุกร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ต้อกระจก



       (Cataract)
               เลนส์ตาขุ่น อาจมีสีขาวขุ่น สีเหลือง หรือสีน้ำตาล ทำให้แสงผ่านเข้าไปยังจอประสาทตาได้น้อยลงภาพที่เกิดขึ้นจึงไม่ชัดเจน  ตามัว





อาการของต้อกระจก

            แรกจากสายตาจะมัวลงช้า ๆ เหมือนมีหมอกมาบัง แต่ไม่มีอาการปวดตา อาการตามัวจะเป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ จนอาจถึงขั้นมองเห็นเป็นเพียงเงาเคลื่อนไหว

            ถ้าทิ้งไว้โดยไม่ได้รักษาด้วยการผ่าตัดอย่างเหมาะสม อาจเกิดอาการแทรกซ้อน ปวดตาอย่างรุนแรง และลุกลาม กลายเป็นต้อหินเฉียบพลัน หรือม่านตาอักเสบ ถ้ารักษาไม่ทันอาจทำให้ตาบอด




สาเหตุของการเกิดต้อกระจก

    -  จากการเสื่อมของเลนส์ตาตามวัย พบในผู้ใหญ่ที่มีอายุ  > 65 ปีขึ้นไป
    -  จากกรรมพันธุ์ ซึ่งเป็นความผิดปกติของน้ำตาลบางชนิด (กาแลคโตส)
    -  เด็กเกิดจากมารดาติดเชื้อไวรัส เช่น หัดเยอรมันขณะตั้งครรภ์ 3 เดือนแรก หรือมารดารับประทานยาบางชนิดในขณะตั้งครรภ์์
    -  ได้รับอุบัติเหตุเกิดการกระทบกระแทกแรงๆ บริเวณศรีษะ ใบหน้า ตา เช่น ถูกไม้ฟาด ถูกของมีคมทิ่ม หรือเศษโลหะกระเด็นเข้าตา เป็นต้น
    -  จากโรคตาบางชนิด เช่น โรคจอประสาทตา โรคต้อหิน หรือการอักเสบเป็นแผลของกระจกตาเป็นต้น
    -  โรคอื่นๆ ที่อาจทำให้เป็นต้อกระจกได้เร็วขึ้น เช่น โรคเบาหวานหรือผู้ที่รับประทานยาสเตียรอยด์เป็นประจำ


 ข้อดีของการผ่าตัดต้อกระจก

    -  มีเลนส์ให้เลือกทั้งเลนส์ปกติและเลนส์ที่สามารถปรับระยะใกล้ไกลได้เพื่อระดับการมองเห็นที่หลากหลาย
    -  มีโอกาสเกิดผลข้างเคียงน้อยมาก
    -  เลนส์มีขนาดเล็ก พับได้ สอดเข้าไปภายในตาได้ง่าย
    -  แผลในการผ่าตัดมีขนาดเล็ก ไม่จำเป็นต้องเย็บแผล
    -  ไม่ทำให้เนื้อเยื่อกระจกตาเกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ
    -  สามารถรักษาร่วมกับการแก้ไขภาวะสายตาผิดปกติด้วยวิธีอื่นๆ ได้




การผ่าตัดโดย  การสลายต้อกระจกด้วยอัลตราซาวด์ (Phacoemulsification)
           จะมีการเปิดแผลขนาดเล็กมาก3-3.2 มิลลิเมตร  ผ่านกระจกตา และจะสอดปลายเครื่องมือเข้าไปในตาผ่านทางแผลนี้ คลื่นความถี่สูงจะถูกส่งผ่านจากปลายของเครื่องมีอนี้เพื่อไปสลายต้อกระจกให้เป็นชิ้นเล็กๆและดูดออกโดยปลายเครื่องมือชิ้นเดียวกัน ซึ่งถุงหุ้มเลนส์จะถูกปล่อยไว้หลังจากดูดต้อกระจกออกมาแล้ว ใส่เลนส์แบบพับได้    แผลในการผ่าตัดสมานตัวได้เองจึงไม่จำเป็นต้องเย็บแผล

            เลนส์แก้วตาเทียมจะถูกใส่เข้าไปแทนที่เลนส์แก้วตาเดิม เลนส์ที่ถูกสอดเข้าไปในตา จะค่อยๆ คลี่ตัวออกและถูกวางไว้หลังม่านตา และอยู่ด้านหน้าเลนส์แก้วตาซึ่งไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า คนไข้จะได้รับการหยอดยาชาเพื่อบรรเทาความเจ็บปวดในระหว่างการผ่าตัด การผ่าตัดใช้เวลาประมาณ 30 นาที





            ผู้ที่เป็นต้อกระจกอาจไม่สามารถรับการผ่าตัดสลายต้อกระจกด้วยอัลตราซาวด์ได้ทุกคน ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของจักษุแพทย์ ตัวอย่างเช่น ในคนไข้บางราย เลนส์มีความแข็งมากเกินไปไม่สามารถสลายได้เนื่องจากเลยระยะเวลา ในทางตรงกันข้าม คนไข้ที่อายุน้อย เลนส์ยังมีความนิ่มอยู่มากจึงสามารถดูดออกโดยไม่ต้องใช้อัลตราซาวด์ไปสลายเลนส์ คนไข้ที่เป็นโรคต้อหินที่ได้รับการหยอดยาหดม่านตาเป็นเวลานานๆ อาจมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนขณะผ่าตัดสูงขึ้น
           ก่อนผ่าตัด 1สัปดาห์ คนไข้จะต้องหยุดใช้ยาต่อไปนี้ : ยาละลายเกล็ดเลือดทุกชนิด, แอสไพริน และยาหดม่านตาเช่นพิโลคาร์ปีน แพทย์จะเป็นผู้อธิบายสาเหตุว่าทำไมต้องหยุดยาดังกล่าว คนไข้ที่มีโรคประจำตัวและมีการใช้ยารักษาโรคประจำตัวเช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจขาดเลือด สามารถใช้ยาต่อไปได้โดยไม่ต้องหยุดยา


การปฏิบัติตัววันทำผ่าตัด

    1. เช้าวันผ่าตัด หากมีอาการตาแดง ตากุ้งยิง ท้องเดิน เจ็บหน้าอก ต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบก่อน เพื่องดการผ่าตัด
    2. เช้าวันผ่าตัด อาบน้ำ ล้างหน้าให้สะอาด สวมเสื้อผ้าที่ใส่สบาย ไม่ควรเป็นเสื้อสวมหัวและไม่ใส่เครื่องประดับ     หรือนำของมีค่ามาห้องผ่าตัด
    3. รับประทานอาหารเช้าที่เป็นอาหารอ่อนๆ ย่อยง่าย เช่น ข้าวต้ม นม โอวัลติน เป็นต้น
    4. ถ้ามียาประจำตัวที่จะต้องใช้ให้นำมาด้วย เช่น ยารักษาความดัน รักษาโรคเบาหวาน เป็นต้น
 
 การปฏิบัติตัวขณะทำการผ่าตัด

    1. ในบางรายที่ได้รับยาระงับความรู้สึก ด้วยการใช้ยาชาเฉพาะที่ ควรให้ความร่วมมือ กลอกตาซ้าย-ขวา บน-ล่าง   ตามเจ้าหน้าที่แนะนำ
    2. ขณะผ่าตัด ควรนอนนิ่งๆ ไม่ส่ายหน้าหรือสั่นศีรษะ ไม่นอนเกร็ง นอนปล่อยตัวตามสบาย
    3. ไม่ไอ จาม หรือพูดคุยในขณะที่ทำการผ่าตัด แต่ถ้าต้องการอะไรสามารถพูดคุยบอกแพทย์ได้
    4. ขณะผ่าตัดอาจรู้สึกหนักๆ บริเวณดวงตาบ้าง แต่จะไม่รู้สึกเจ็บมาก
    5. ในขณะผ่าตัด บางช่วงอาจมีเสียงดังจากการทำงานของเครื่องไม่ต้องตกใจ
    6. แพทย์จะใช้เวลาในการผ่าตัดประมาณ 30-40 นาที ซึ่งขึ้นอยู่กับความแข็งของต้อกระจก
    7. เมื่อเสร็จสิ้นการผ่าตัด จะมีการปิดตาข้างที่ทำการผ่าตัดเอาไว้

การปฏิบัติตัวหลังการผ่าตัดต้อกระจกในคืนแรก

        -  ในวันแรกให้นอนหงาย ห้ามนอนตะแคง
        - ไม่ควรไอหรือจามแรงๆ เพราะจะมีผลกระเทือนต่อแผลผ่าตัด
        - ห้ามแกะฝาครอบโดยเด็ดขาดเพื่อป้องกันไม่ให้คนไข้ขยี้ตา
        - รับประทานยาตามแพทย์สั่ง
        - คนไข้บางคน อาจมีอาการเวียนศรีษะ คลื่นไส้ อาเจียน อันเนื่องมาจากภาวะความดันตาสูงขึ้นชั่วคราว อาการเหล่านี้จะค่อย ๆ หายไปหลังการผ่าตัดประมาณ 2-3 ชั่วโมง และหลังผ่าตัด แพทย์จะให้ทานยาลดความดันตาป้องกันไว้ก่อน

การปฏิบัติตัวหลังการผ่าตัดต้อกระจก

        - ไม่ควรนอนคว่ำหน้า หรือนอนตะแคงทับตาข้างทำการผ่าตัด จนกว่าแพทย์จะอนุญาต
        - ในขณะนอน ให้ปิดฝาครอบตาไว่้ประมาณ 1-2 สัปดาห์ หรือป้องกันการขยี้ตา ช่วงกลางวันอาจใช้แว่นตาได้
        - การแปรงฟัน สามารถแปรงฟันได้ แต่ต้องค่อยๆ แปรง ไม่สั่นศีรษะไปมา
        - การอาบน้ำ    หลีกเลี่ยงการก้มหน้ามาก ขณะอาบน้ำให้ราดน้ำตั้งแต่ไหล่ลงมาเท่านั้น ห้ามน้ำโดนตาข้างที่ทำการผ่าตัด บริเวณใบหน้าส่วนอื่นและตาข้างที่ไม่ได้ทำการผ่าตัดให้ใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำหมาดๆ เช็ดได้เท่านั้น
        - อาทิตย์แรกของการผ่าตัด ให้เช็ดตาวันละ 1-2 ครั้งตาข้างที่ทำการผ่าตัดจะมีอาการคัน หรือเคืองตาได้ ห้ามขยี้ตาอย่างเด็ดขาด และไม่ให้น้ำเข้าตาประมาณ 2 สัปดาห์ เพราะอาจทำให้เกิดการติดเชื้อ
       - ถ้าต้องการสระผม ห้ามก้มหน้าสระเอง ให้ผู้อื่นสระให้โดยการให้นอนหงายและคนอื่นสระให้เบาๆ ห้ามน้ำกระเด็นมาเข้าตา
       - คนไข้ไม่ควรก้มหน้าประมาณ 1 เดือน เพราะการก้มหน้าอาจมีผลกระเทือนต่อแผลผ่าตัด
       - ไม่ควรไอ จาม สะบัดหน้าแรงๆ หรือ ออกแรงยกของหนักเพราะจะมีผลกระทบต่อแผลผ่าตัด
       - เวลาก้าวขึ้น-ลงบันได ควรใช้ความระมัดระวัง อาจจะก้าวผิดทำให้หน้ากระแทกได้ เนื่องจากการใช้ตาข้างเดียวมีผลให้การกะระยะทางผิด ทำให้ก้าวเท้าพลาดได้
       - ไม่ควรเล่นกับเด็กหรือสัตว์เลี้ยง เพราะอาจโดนตะปบที่ตา
       - ไม่ควรทำกับข้าวหรือกวาดบ้าน เพราะควันหรือฝุ่นละอองเข้าตา และอาจทำให้ตาอักเสบได้
       - ควรสวมแว่นตาดำกันลม กันแดด เมื่อออกนอกบ้านประมาณ 2 สัปดาห์
       - รับประทานยา/หยอดยา ตามแพทย์สั่ง
       - การรับประทานอาหาร ช่วง 2 สัปดาห์แรก ควรรับประทานอาหารอ่อนๆ เท่านั้น หลังจากนั้นสามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ
       - ในบางรายที่ท้องผูก ควรรับประทานยาระบายอ่อนๆ หลังผ่าตัดได้
     

อาการที่ควรมาพบแพทย์ทันที

        - มีอาการปวดตามากตลอดเวลา ตาแดง ขี้ตามากจนผิดปกติ หนังตาบวม ตามัวลงกว่าเดิมมาก
        - มีเลือดออกบริเวณตาดำ หรือตาขาว
        - มีการเคืองตามากผิดปกติ
        - มองเห็นภาพบิดเบี้ยว หรือเหมือนมีอะไรลอยไปมาในตา

         

มีหลายคนถามว่า ในวัยหนุ่มสาว เราจะป้องกันอย่างไร ไม่ให้เลนส์ตาเสื่อมไว
การป้องกันคือ
1. สวมแว่นตากันแดดที่มี UV จริงๆ เพื่อป้องกันแสงอุตตร้าไวโอเล็ต
2. หลีกเลี่ยงการรับประทานยาที่มีส่วนผสมสเตียรอยด์เป็นประจำ
3.ระมัดระวังไม่ให้เกิดการกระแทกแรงๆบริเวณใบหน้า ศีรษะ

ราคาค่าผ่าตัดในโรงพยาบาลอานันทมหิดล 5,100 บาท 
ค่าเลนส์  3,000 -6,000 บาท 
รวมค่าใช้จ่ายโดยประมาณ ขณะนอนโรงพยาบาล 2-3 วัน ประมาณ 20,000 บาท ค่ะ

 แพทย์ที่ทำผ่าตัด ใน โรงพยาบาลอานันทมหิดล 3  ท่านค่ะ ได้แก่
พ.เอกรินทร์
พ.ทัญญุตา และ พ.ฉลองชัย

เรียนเชิญคุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย ที่ทีปัญหาสายตา มาตรวจรักษาที่ OPD ตา
วันจันทร์ ถึง วันพฤหัส ค่ะ 8.00-12.00 น   เมื่อแพทย์นัดผ่าตัดแล้วพบกันที่ห้องผ่าตัดนะค่ะ

Chocolate cyst


 Chocolate cyst  หรือ Endometriosis  (โรคเอ็นโดเมททริโอซิส )
 โรคเยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่

                  ช็อกโกแลตซีส      หมายถึง     ถุงน้ำของรังไข่ที่มีของเหลว เหมือนช็อกโกแลต อยู่ภายใน ซึ่งความจริงก็คือถุงเลือด และเมื่อเลือดค้างอยู่ในถุงน้ำนานๆ ก็กลายเป็นสีน้ำตาล


สาเหตุ

              เกิดจากเลือดประจำเดือนไหลย้อนกลับ คือแทนที่เลือดนั้นจะออกมาทางช่องคลอด  อาจจะมีเลือดส่วนหนึ่งไหลย้อนกลับเข้าไปผ่านทางหลอดมดลูก แล้วก็เข้าไปในช่องท้องไปฝังตัวที่รังไข่จนทำให้เกิดเป็นถุงน้ำขึ้น และเนื่องจากลักษณะเซลล์ของถุงน้ำเป็นเนื้อเยื่อบุโพรงมดลูกอย่างหนึ่ง เมื่อผู้หญิงมีประจำเดือน (คือ การที่เยื่อบุโพรงมดลูกลอกตัวออกมา) ถุงน้ำดังกล่าวก็จะมีเลือดออกในถุงด้วย ดังนั้น ในแต่ละเดือนที่ผ่านไปถุงน้ำก็จะมีเลือดออกเพิ่มขึ้นๆ นั่นหมายถึง ถุงน้ำก็จะใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ การที่ถุงน้ำนี้จะใหญ่เร็วมากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของคนคนนั้นว่า จะดูดน้ำกลับได้เร็วเท่าไหร่ ถ้าร่างกายดูดน้ำกลับได้เร็วถุงน้ำนั้นก็จะโตขึ้นแบบช้าๆ ในทางตรงกันข้ามถ้าร่างกายดูดซึมน้ำกลับได้ช้า ถุงน้ำก็จะโตขึ้นได้เร็วกว่าค่ะ




อาการที่น่าสงสัย

• ปวดในช่องท้อง ท้องน้อย หรืออุ้งเชิงกราน มีบุตรยาก
• ปวดประจำเดือน ประจำเดือนออกมาก
• อาการปวดต่าง ๆ เหล่านี้ มักจะรุนแรงขึ้นขณะที่มีประจำเดือน หรือ ช่วงก่อน/ หลังมีประจำเดือน
• ในรายที่เจริญที่รังไข่ อาจจะพบว่ามีก้อนในช่องท้อง จากถุงน้ำรังไข่ ที่โตขึ้นโดยไม่มีอาการ
ในรายที่เป็นโรคระยะรุนแรงจะมีพังผืดเกิดขึ้นจำนวนมาก หรือท่อนำไข่ถูกทำลายไป จากเซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกเหล่านี้เข้าไปเกาะหรือฝังตัวในท่อนำไข่ ทำให้ผู้ป่วยมีปัญหามีบุตรยากได้
     
ร้ายแรงไหม

            ไม่ร้ายแรง แต่มีโอกาสเป็นโรคมะเร็งรังไข่ได้เท่ากับสตรีที่ไม่ได้เป็นโรคนี้ (โรคมะเร็งรังไข่พบได้สูงกว่าในคนที่ไม่เคยตั้งครรภ์เมื่อเปรียบเทียบกับคนเคยตั้งครรภ์)

ทำไมเป็นในผู้หญิงโสด
              เพราะว่า สาเหตุเกิดจาก การไหลย้อนกลับของเลือดประจำเดือน. หญิงที่ตั้งครรภ์ หรือเคยตั้งครรภ์ ระบบประจำเดือนก็จะหยุดทำงานอย่างน้อย เป็นเวลา 9 เดือน และหลังจากคลอดบุตรแล้วก็ยังจะไม่มีประจำเดือนอีกกว่า 1-3 เดือน บางรายอาจจะเกือบหนึ่งปีได้ การที่ไม่มีเลือดประจำเดือนเป็นเวลานานนี้้ ก็ทำให้ถุงน้ำฝ่อตัวลงไปด้วย และถึงแม้จะคลอดบุตรแล้ว และกลับมามีประจำเดือนอีกตามปกติ ก็พบว่าส่วนมากจะไม่มีอาการปวดท้องอันเนื่องมาจากถุงน้ำช็อกโกแลตนี้


ผู้มีโอกาสเป็นโรค
             พบได้ประมาณ 1 ใน 10 หรือ มากถึง 5 ใน 10 ของสตรีวัยเจริญพันธุ์
             พบในสตรีอายุระหว่าง 25-40 ปี
             เสี่ยงต่อครอบครัวที่เป็นโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่
            ไม่เคยตั้งครรภ์มาก่อน


การตรวจวินิจฉัยโรค

         ตรวจวินิจฉัยจากอาการ.  การตรวจภายใน และการอัลตร้าซาวนด์

การรักษา

            โรคนี้ไม่รุนแรงแต่จะทำให้มีอาการปวดประจำเดือน ให้กินยาแก้ปวด Paracetamol หรือ Ponstan
แพทย์จะผ่าตัดในกรณีที่จำเป็น เช่น ถุงน้ำนั้นใหญ่มากจนทำให้เกิดอาการปวดรุนแรงหรือถุงน้ำไปกดอวัยวะข้างเคียงเช่น ไปกดกระเพาะปัสสาวะ แล้วทำให้ปัสสาวะบ่อยขึ้น หรือ กรณีที่ถุงน้ำแตกซึ่งจะทำให้เกิดอาการปวดท้องแบบเฉียบพลันหรือกรณีของผู้หญิงที่มีลูกยาก  จำเป็นต้องผ่าตัดเอาถุงน้ำออกเพราะการที่มีถุงน้ำอยู่จะรบกวนการตั้งครรภ์พอสมควรเพราะมันอาจจะทำให้เกิดพังผืดไปรัดทำให้หลอดมดลูกตีบหรือตันได้


การผ่าตัดที่ดีที่สุดคือ.
1.  การใช้กล้องเข้าไปผ่าตัดค่ะ.   ข้อดีคือ  คนไข้เจ็บตัวน้อยเมื่อเทียบกับการผ่าตัดในแบบที่จะต้องเปิดแผลใหญ่ๆ เพราะการใช้วิธีส่องกล้องผ่าตัดคนไข้จะมีแผลเพียงแค่รูเล็กๆขนาดรูตะเกียบ 3 รูเท่านั้น และเมื่อผ่าตัดเสร็จก็ไม่จำเป็นต้องนอนพักโรงพยาบาลหลายวันเหมือนกับการผ่าตัดธรรมดาค่ะ








 





 

 
 
 
 
2.การผ่าต้ดหน้าท้อง แผลจะคล้ายกับผ่าตัดคลอดบุตรทางหน้าท้องค่ะ ระยะเวลานอนป่วยใน              โรงพยาบาลจะนานกว่าเล์กน้อย

วันพฤหัสบดีที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2555

การทำหมันหญิง







หลักการทำหมันหญิง เมื่อเปิดแผลเข้าไปในช่องท้อง   แพทย์จะจับปีกมดลูก (หรือท่อนำไข่) ซึ่งมีลักษณะเป็นท่อ ต่อออกจากตัวมดลูกออกไปทั้งสองข้าง ขนาดประมาณ หลอดกาแฟ ถ้าตอนหลังคลอดใหม่ ขนาดอาจจะโตกว่า ตอนไม่ตั้งครรภ์ เมื่อจับได้แล้ว จะผูกแล้วตัด ให้ขาด ออกจากกัน โดย ทำทั้งสองข้าง ดังนั้น เมื่อมีการตกไข่ จากรังไข่ ซึ่งอยู่ใกล้ส่วนปลายของปีกมดลูก แล้ว ไข่จะเดินทางมา ตามท่อนำไข่นี้  เพื่อมารอผสมกับสเปร์ม ที่บริเวณ แถวกระเปาะส่วนปลายของปีกมดลูก (Ampular) แต่เมื่อตัดท่อนี้แล้ว ทำให้สเปิร์ม ไม่สามารถผ่านไปหาไข่ ที่มารออยู่ส่วนปลายปีกมดลูกได้ (อยู่คนละฝั่งของท่อที่ถูกตัดขาดออกจากกัน) ทำให้ไม่มีการปฏิสนธิเกิดขึ้น  หลักการง่ายๆค่ะ




การทำหมัน ทำได้ 2 ระยะ ค่ะ

1.ระยะหลังคลอดใหม่ๆ   เหมาะที่สุด เพราะมดลูกอยู่สูง ทำการเปิดหน้าท้องเพียงเล็กน้อย ประมาณ 2-3 ซม
 เพื่อผูกและตัดท่อนำไข่ ทั้ง 2 ข้าง ใช้เวลาในการผ่าตัด 10-15 นาที นิยมทำหลังคลอดบุตรเอง 24-48ชม  กรณีผ่าตัดคลอดบุตรทางหน้าท้อง สามารถทำหมันหลังคลอดบุตรได้ทันที  โดยผู้ป่วยสามารถบอกแพทย์และเซ็นยินยอมทำหมันทั้งสามีและภรรยาค่ะ
2. ระยะปกติ เรียก ทำหมันแห้ง ค่ะ
     หลักการคล้ายกัน แต่จะตรวจสุขภาพก่อน แล้วจึงนัดมาทำหมันค่ะ
 การผ่าตัดทำหมันหญิงจะไม่ทำให้ร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ยังคงมีประจำเดือน และ ความรู้สึกทางเพสเหมือนเดิมนะค่ะ ไม่ต้องกังวลค่ะ

วันเสาร์ที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2555

นิ้วล็อค

( Trigger finger )
        อาการของ ข้อนิ้วมืองอ แล้วเหยียดเองไม่ได้เหมือนถูกล็อค  โรคนี้ไม่อันตราย  แต่ทำให้รู้สึกเจ็บปวด และใช้มือได้ไม่ถนัด สามารถป้องกันและรักษาให้หายได้



สาเหตุ
       เกิดจาก แรงกดหรือเสียดสีของเส้นเอ็นซ้ำซากทำให้มี การอักเสบของเส้นเอ็นและปลอกหุ้มเอ็นที่ใช้ในการงอข้อนิ้วมือ ซึ่งอยู่ตรงบริเวณโคนนิ้วมือ ทำให้เส้นเอ็นหนาตัวขึ้น และติดขัดในการเคลื่อนไหวขณะเหยียดนิ้วมือ เมื่ออักเสบรุนแรงมากขึ้นจะเกิดปุ่มตรงเส้นเอ็น เวลางอนิ้วมือปุ่มจะอยู่นอกปลอกหุ้ม แต่ไม่สามารถเคลื่อนเข้าปลอกหุ้ม เวลาเหยียดนิ้วมือกลับไป  ทำให้เกิดอาการนิ้วล็อกอยู่ในท่างอ ต้องออกแรงช่วยใน การเหยียด จึงจะสามารถฝืนให้ปุ่มเคลื่อนที่ผ่านปลอกหุ้มเข้าไปได้

        พบใน. หญิง> ชาย และอายุ  40 - 50 ปี โดยมากจะเกิดกับผู้ที่ใช้งานมือในลักษณะเกร็งนิ้วบ่อยๆ เช่น การทำงานบ้านต่างๆ การบิดผ้า การหิ้วของหนัก การใช้กรรไกรตัดกิ่งไม้ ตัดผ้า การยกของหนักต่างๆ เป็นต้น


อาการแบ่งเป็น 4 ระยะ คือ

            1. ระยะแรก ปวดบริเวณโคนนิ้วมือ และจะปวดมากขึ้น ถ้าเอานิ้วกดบริเวณฐานนิ้วมือด้านหน้า แต่ยังไม่มีอาการติดสะดุด

             2. ระยะที่สอง มีอาการสะดุด (triggering) และจะปวดมากขึ้น เวลาขยับนิ้ว งอ และเหยียดนิ้ว จะมีการสะดุดจนรู้สึกได้

             3. ระยะที่สาม มีอาการติดล็อค  โดยเมื่องอนิ้วลงไปแล้ว จะติดล็อคจนไม่สามารถเหยียดนิ้วออกเองได้ ต้องเอามืออีกข้างมาช่วยแกะ หรืออาจมีอาการมากขึ้นจนไม่สามารถงอนิ้วลงได้เอง

             4. ระยะที่สี่ มีการอักเสบบวมมาก จนนิ้วบวมติดอยู่ในท่างอเล็กน้อย ไม่สามารถเหยียดให้ตรงได้ ถ้าใช้มือมาช่วยเหยียดจะปวดมาก


  การรักษา

            1. การใช้ยารับประทาน เพื่อลดการอักเสบ ลดบวม และลดอาการปวด ร่วมกับพักการใช้มือ

            2. การใช้วิธีทางกายภาพบำบัด ได้แก่ การใช้เครื่องดามนิ้วมือ การนวดเบาๆ การใช้ความร้อนประคบ และการออกกำลังกายเหยียดนิ้ว โดยการรักษาด้วยยาและกายภาพบำบัด อาจใช้ร่วมกันได้ และมักใช้ได้ผลดีเมื่อมีอาการของโรคในระยะแรก และระยะที่สอง









            3. การฉีดยาสเตียรอยด์เฉพาะที่ เพื่อลดการอักเสบ ลดปวดและลดบวม เป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพค่อนข้างมาก ส่วนมากมักจะหายเจ็บ บางรายอาการติดสะดุดจะดีขึ้น แต่การฉีดยามักถือว่าเป็นการรักษาแบบชั่วคราว และข้อจำกัดก็คือ ไม่ควรฉีดยาเกิด 2 หรือ 3 ครั้ง ต่อ 1 นิ้วที่เป็นโรค การรักษาโดยการฉีดยานี้สามารถใช้ได้กับอาการของโรคตั้งแต่ระยะแรกจนถึงระยะท้าย

            4. การรักษาโดยการผ่าตัด ที่ดีที่สุดในแง่ที่จะไม่ทำให้กลับมาเป็นโรคอีก หลักในการผ่าตัด คือ แพทย์จะฉีดยาชาเฉพาะที่ แล้ว ตัดปลอกหุ้มเส้นเอ็นที่หนาอยู่ให้เปิดกว้างออก เพื่อให้เส้นเอ็นเคลื่อนผ่านได้โดยสะดวก ไม่ติดขัดหรือสะดุดอีก เย็บแผลประมาณ 3เข็ม เล็กๆ  ผ่าตัดเสร็จก็กลับบ้านได้ หลังผ่าตัดหลีกเลี่ยงการใช้งานหนัก และการสัมผัสนิ้ว ประมาณ 2 สัปดาห์ ดูแลไม่ให้แผลเปียกน้ำ ทำแผล วันละครั้ง หลังผ่าตัด กินยาแก้อักเสบ และแก้ปวด ตามแพทย์สั่ง 10 วัน แพทย์ดูแผล ตัดไ่หมได้

     
 
 
     

  การป้องกัน

            1. ไม่หิ้วของหนัก เช่น ถุงพลาสติก ตะกร้า ถังน้ำ ถ้าจำเป็นต้องหิ้ว ควรใช้ผ้าขนหนูรองและหิ้วให้น้ำหนักตกที่ฝ่ามือ แทนที่จะให้น้ำหนักตกที่ข้อนิ้วมือ หรือใช้วิธีการอุ้มประคองช่วยลดการรับน้ำหนักที่นิ้วมือได้




            2. ไม่ควรบิดหรือซักผ้าด้วยมือเปล่าจำนวนมากๆ และไม่ควรบิดผ้าให้แห้งสนิท เพราะจะยึดปลอกหุ้มเอ็นจนคราก และเป็นจุดเริ่มต้นของโรคนิ้วล็อค

            3. นักกอล์ฟที่ต้องตีแรง ตีไกล ควรใส่ถุงมือ หรือใช้ผ้าสักหลาดหุ้มด้ามจับให้หนาและนุ่มขึ้น เพื่อลดแรงปะทะ และไม่ควรไดร์กอล์ฟต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ





            4. เวลาทำงานที่ต้องอาศัยอุปกรณ์ช่าง ควรระวังการกำหรือบดเครื่องมือทุ่นแรง เช่น ไขควง เลื่อย ค้อน ฯลฯ ควรใส่ถุงมือหรือห่อหุ้มด้ามจับให้ใหญ่และนุ่มขึ้น

            5. ชาวสวนควรระวังเรื่องการตัดกิ่งไม้ด้วยกรรไกร หรืออื่นๆ ที่ใช้แรงมือควรใส่ถุงมือเพื่อลดการบาดเจ็บของปลอกเอ็นกับเส้นเอ็น และควรใช้สายยางรดน้ำต้นไม้แทนการหิ้วถังน้ำ

            6. คนที่ยกของหนักๆ เป็นประจำ เช่นคนส่งน้ำขวด ถังแก๊ส แม่ครัวพ่อครัว ควรหลีกเลี่ยงการยกมือเปล่า ควรมีผ้านุ่มๆ มารองจับขณะยก และใช้เครื่องทุ่นแรง เช่น รถเข็น รถลาก

            7. หากจำเป็นต้องทำงานที่ต้องใช้มือกำ หยิบ บีบ เครื่องมือเป็นเวลานานๆ ควรใช้เครื่องทุ่นแรง เช่น ใช้ผ้าห่อที่จับให้หนานุ่ม เช่น ใช้ผ้าห่อด้ามจับตะหลิวในอาชีพแม่ครัวพ่อครัว

            8. งานบางอย่างต้องใช้เวลาทำงานนานต่อเนื่อง ทำให้มือเมื่อยล้าหรือระบม ควรพักมือเป็นระยะๆ เช่นทำ 45 นาที ควรจะพักมือสัก 10 นาที

            9.ถ้ามีอาการข้อฝืด กำไม่ถนัดตอนเช้า ควรแช่น้ำอุ่นจัดๆ และบริหารโดยการขยับมือกำแบเบาๆ ในน้ำ จะทำให้นิ้วมือเคลื่อนไหวได้คล่องขึ้น
         



10.ไม่ขยับนิ้วหรือดีดนิ้วที่มีอาการเล่น เพราะจะทำให้เส้นเอ็นอักเสบมากยิ่งขึ้น


         


การออกกำลังกาย สำหรับอาการ “ นิ้วล็อค ”




1.  ยืดกล้ามเนื้อแขน มือ นิ้วมือ

- โดยยกแขนระดับไหล่ ใช้มือข้างหนึ่งดันให้ข้อมือกระดกขึ้น-ลง ปลายนิ้วเหยียดตรงค้างไว้ นับ1-10 แล้วปล่อย  ทำ 6-10 ครั้ง/เซต



2. บริหารการกำ-แบมือ

        - ฝึกกำ- แบ เพื่อเพิ่มการเคลื่อนไหวของข้อนิ้วมือ และกำลังกล้ามเนื้อภายในมือ  หรืออาจถือลูกบอลในฝ่ามือก็ได้




  3. ท่าเพิ่มกำลังกล้ามเนื้อที่ใช้งอ-เหยียดนิ้วมือ

       - ใช้ยางยืดช่วยต้าน แล้วใช้นิ้วมือเหยียดอ้านิ้วออก ค้างไว้ นับ1-10 แล้วค่อยๆปล่อย  ทำ  6-10 ครั้ง/รอบ


ยังมีเรื่องของมือ และ นิ้ว อีกนะค่ะ ติดตามนะค่ะ