วันศุกร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ต้อกระจก



       (Cataract)
               เลนส์ตาขุ่น อาจมีสีขาวขุ่น สีเหลือง หรือสีน้ำตาล ทำให้แสงผ่านเข้าไปยังจอประสาทตาได้น้อยลงภาพที่เกิดขึ้นจึงไม่ชัดเจน  ตามัว





อาการของต้อกระจก

            แรกจากสายตาจะมัวลงช้า ๆ เหมือนมีหมอกมาบัง แต่ไม่มีอาการปวดตา อาการตามัวจะเป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ จนอาจถึงขั้นมองเห็นเป็นเพียงเงาเคลื่อนไหว

            ถ้าทิ้งไว้โดยไม่ได้รักษาด้วยการผ่าตัดอย่างเหมาะสม อาจเกิดอาการแทรกซ้อน ปวดตาอย่างรุนแรง และลุกลาม กลายเป็นต้อหินเฉียบพลัน หรือม่านตาอักเสบ ถ้ารักษาไม่ทันอาจทำให้ตาบอด




สาเหตุของการเกิดต้อกระจก

    -  จากการเสื่อมของเลนส์ตาตามวัย พบในผู้ใหญ่ที่มีอายุ  > 65 ปีขึ้นไป
    -  จากกรรมพันธุ์ ซึ่งเป็นความผิดปกติของน้ำตาลบางชนิด (กาแลคโตส)
    -  เด็กเกิดจากมารดาติดเชื้อไวรัส เช่น หัดเยอรมันขณะตั้งครรภ์ 3 เดือนแรก หรือมารดารับประทานยาบางชนิดในขณะตั้งครรภ์์
    -  ได้รับอุบัติเหตุเกิดการกระทบกระแทกแรงๆ บริเวณศรีษะ ใบหน้า ตา เช่น ถูกไม้ฟาด ถูกของมีคมทิ่ม หรือเศษโลหะกระเด็นเข้าตา เป็นต้น
    -  จากโรคตาบางชนิด เช่น โรคจอประสาทตา โรคต้อหิน หรือการอักเสบเป็นแผลของกระจกตาเป็นต้น
    -  โรคอื่นๆ ที่อาจทำให้เป็นต้อกระจกได้เร็วขึ้น เช่น โรคเบาหวานหรือผู้ที่รับประทานยาสเตียรอยด์เป็นประจำ


 ข้อดีของการผ่าตัดต้อกระจก

    -  มีเลนส์ให้เลือกทั้งเลนส์ปกติและเลนส์ที่สามารถปรับระยะใกล้ไกลได้เพื่อระดับการมองเห็นที่หลากหลาย
    -  มีโอกาสเกิดผลข้างเคียงน้อยมาก
    -  เลนส์มีขนาดเล็ก พับได้ สอดเข้าไปภายในตาได้ง่าย
    -  แผลในการผ่าตัดมีขนาดเล็ก ไม่จำเป็นต้องเย็บแผล
    -  ไม่ทำให้เนื้อเยื่อกระจกตาเกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ
    -  สามารถรักษาร่วมกับการแก้ไขภาวะสายตาผิดปกติด้วยวิธีอื่นๆ ได้




การผ่าตัดโดย  การสลายต้อกระจกด้วยอัลตราซาวด์ (Phacoemulsification)
           จะมีการเปิดแผลขนาดเล็กมาก3-3.2 มิลลิเมตร  ผ่านกระจกตา และจะสอดปลายเครื่องมือเข้าไปในตาผ่านทางแผลนี้ คลื่นความถี่สูงจะถูกส่งผ่านจากปลายของเครื่องมีอนี้เพื่อไปสลายต้อกระจกให้เป็นชิ้นเล็กๆและดูดออกโดยปลายเครื่องมือชิ้นเดียวกัน ซึ่งถุงหุ้มเลนส์จะถูกปล่อยไว้หลังจากดูดต้อกระจกออกมาแล้ว ใส่เลนส์แบบพับได้    แผลในการผ่าตัดสมานตัวได้เองจึงไม่จำเป็นต้องเย็บแผล

            เลนส์แก้วตาเทียมจะถูกใส่เข้าไปแทนที่เลนส์แก้วตาเดิม เลนส์ที่ถูกสอดเข้าไปในตา จะค่อยๆ คลี่ตัวออกและถูกวางไว้หลังม่านตา และอยู่ด้านหน้าเลนส์แก้วตาซึ่งไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า คนไข้จะได้รับการหยอดยาชาเพื่อบรรเทาความเจ็บปวดในระหว่างการผ่าตัด การผ่าตัดใช้เวลาประมาณ 30 นาที





            ผู้ที่เป็นต้อกระจกอาจไม่สามารถรับการผ่าตัดสลายต้อกระจกด้วยอัลตราซาวด์ได้ทุกคน ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของจักษุแพทย์ ตัวอย่างเช่น ในคนไข้บางราย เลนส์มีความแข็งมากเกินไปไม่สามารถสลายได้เนื่องจากเลยระยะเวลา ในทางตรงกันข้าม คนไข้ที่อายุน้อย เลนส์ยังมีความนิ่มอยู่มากจึงสามารถดูดออกโดยไม่ต้องใช้อัลตราซาวด์ไปสลายเลนส์ คนไข้ที่เป็นโรคต้อหินที่ได้รับการหยอดยาหดม่านตาเป็นเวลานานๆ อาจมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนขณะผ่าตัดสูงขึ้น
           ก่อนผ่าตัด 1สัปดาห์ คนไข้จะต้องหยุดใช้ยาต่อไปนี้ : ยาละลายเกล็ดเลือดทุกชนิด, แอสไพริน และยาหดม่านตาเช่นพิโลคาร์ปีน แพทย์จะเป็นผู้อธิบายสาเหตุว่าทำไมต้องหยุดยาดังกล่าว คนไข้ที่มีโรคประจำตัวและมีการใช้ยารักษาโรคประจำตัวเช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจขาดเลือด สามารถใช้ยาต่อไปได้โดยไม่ต้องหยุดยา


การปฏิบัติตัววันทำผ่าตัด

    1. เช้าวันผ่าตัด หากมีอาการตาแดง ตากุ้งยิง ท้องเดิน เจ็บหน้าอก ต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบก่อน เพื่องดการผ่าตัด
    2. เช้าวันผ่าตัด อาบน้ำ ล้างหน้าให้สะอาด สวมเสื้อผ้าที่ใส่สบาย ไม่ควรเป็นเสื้อสวมหัวและไม่ใส่เครื่องประดับ     หรือนำของมีค่ามาห้องผ่าตัด
    3. รับประทานอาหารเช้าที่เป็นอาหารอ่อนๆ ย่อยง่าย เช่น ข้าวต้ม นม โอวัลติน เป็นต้น
    4. ถ้ามียาประจำตัวที่จะต้องใช้ให้นำมาด้วย เช่น ยารักษาความดัน รักษาโรคเบาหวาน เป็นต้น
 
 การปฏิบัติตัวขณะทำการผ่าตัด

    1. ในบางรายที่ได้รับยาระงับความรู้สึก ด้วยการใช้ยาชาเฉพาะที่ ควรให้ความร่วมมือ กลอกตาซ้าย-ขวา บน-ล่าง   ตามเจ้าหน้าที่แนะนำ
    2. ขณะผ่าตัด ควรนอนนิ่งๆ ไม่ส่ายหน้าหรือสั่นศีรษะ ไม่นอนเกร็ง นอนปล่อยตัวตามสบาย
    3. ไม่ไอ จาม หรือพูดคุยในขณะที่ทำการผ่าตัด แต่ถ้าต้องการอะไรสามารถพูดคุยบอกแพทย์ได้
    4. ขณะผ่าตัดอาจรู้สึกหนักๆ บริเวณดวงตาบ้าง แต่จะไม่รู้สึกเจ็บมาก
    5. ในขณะผ่าตัด บางช่วงอาจมีเสียงดังจากการทำงานของเครื่องไม่ต้องตกใจ
    6. แพทย์จะใช้เวลาในการผ่าตัดประมาณ 30-40 นาที ซึ่งขึ้นอยู่กับความแข็งของต้อกระจก
    7. เมื่อเสร็จสิ้นการผ่าตัด จะมีการปิดตาข้างที่ทำการผ่าตัดเอาไว้

การปฏิบัติตัวหลังการผ่าตัดต้อกระจกในคืนแรก

        -  ในวันแรกให้นอนหงาย ห้ามนอนตะแคง
        - ไม่ควรไอหรือจามแรงๆ เพราะจะมีผลกระเทือนต่อแผลผ่าตัด
        - ห้ามแกะฝาครอบโดยเด็ดขาดเพื่อป้องกันไม่ให้คนไข้ขยี้ตา
        - รับประทานยาตามแพทย์สั่ง
        - คนไข้บางคน อาจมีอาการเวียนศรีษะ คลื่นไส้ อาเจียน อันเนื่องมาจากภาวะความดันตาสูงขึ้นชั่วคราว อาการเหล่านี้จะค่อย ๆ หายไปหลังการผ่าตัดประมาณ 2-3 ชั่วโมง และหลังผ่าตัด แพทย์จะให้ทานยาลดความดันตาป้องกันไว้ก่อน

การปฏิบัติตัวหลังการผ่าตัดต้อกระจก

        - ไม่ควรนอนคว่ำหน้า หรือนอนตะแคงทับตาข้างทำการผ่าตัด จนกว่าแพทย์จะอนุญาต
        - ในขณะนอน ให้ปิดฝาครอบตาไว่้ประมาณ 1-2 สัปดาห์ หรือป้องกันการขยี้ตา ช่วงกลางวันอาจใช้แว่นตาได้
        - การแปรงฟัน สามารถแปรงฟันได้ แต่ต้องค่อยๆ แปรง ไม่สั่นศีรษะไปมา
        - การอาบน้ำ    หลีกเลี่ยงการก้มหน้ามาก ขณะอาบน้ำให้ราดน้ำตั้งแต่ไหล่ลงมาเท่านั้น ห้ามน้ำโดนตาข้างที่ทำการผ่าตัด บริเวณใบหน้าส่วนอื่นและตาข้างที่ไม่ได้ทำการผ่าตัดให้ใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำหมาดๆ เช็ดได้เท่านั้น
        - อาทิตย์แรกของการผ่าตัด ให้เช็ดตาวันละ 1-2 ครั้งตาข้างที่ทำการผ่าตัดจะมีอาการคัน หรือเคืองตาได้ ห้ามขยี้ตาอย่างเด็ดขาด และไม่ให้น้ำเข้าตาประมาณ 2 สัปดาห์ เพราะอาจทำให้เกิดการติดเชื้อ
       - ถ้าต้องการสระผม ห้ามก้มหน้าสระเอง ให้ผู้อื่นสระให้โดยการให้นอนหงายและคนอื่นสระให้เบาๆ ห้ามน้ำกระเด็นมาเข้าตา
       - คนไข้ไม่ควรก้มหน้าประมาณ 1 เดือน เพราะการก้มหน้าอาจมีผลกระเทือนต่อแผลผ่าตัด
       - ไม่ควรไอ จาม สะบัดหน้าแรงๆ หรือ ออกแรงยกของหนักเพราะจะมีผลกระทบต่อแผลผ่าตัด
       - เวลาก้าวขึ้น-ลงบันได ควรใช้ความระมัดระวัง อาจจะก้าวผิดทำให้หน้ากระแทกได้ เนื่องจากการใช้ตาข้างเดียวมีผลให้การกะระยะทางผิด ทำให้ก้าวเท้าพลาดได้
       - ไม่ควรเล่นกับเด็กหรือสัตว์เลี้ยง เพราะอาจโดนตะปบที่ตา
       - ไม่ควรทำกับข้าวหรือกวาดบ้าน เพราะควันหรือฝุ่นละอองเข้าตา และอาจทำให้ตาอักเสบได้
       - ควรสวมแว่นตาดำกันลม กันแดด เมื่อออกนอกบ้านประมาณ 2 สัปดาห์
       - รับประทานยา/หยอดยา ตามแพทย์สั่ง
       - การรับประทานอาหาร ช่วง 2 สัปดาห์แรก ควรรับประทานอาหารอ่อนๆ เท่านั้น หลังจากนั้นสามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ
       - ในบางรายที่ท้องผูก ควรรับประทานยาระบายอ่อนๆ หลังผ่าตัดได้
     

อาการที่ควรมาพบแพทย์ทันที

        - มีอาการปวดตามากตลอดเวลา ตาแดง ขี้ตามากจนผิดปกติ หนังตาบวม ตามัวลงกว่าเดิมมาก
        - มีเลือดออกบริเวณตาดำ หรือตาขาว
        - มีการเคืองตามากผิดปกติ
        - มองเห็นภาพบิดเบี้ยว หรือเหมือนมีอะไรลอยไปมาในตา

         

มีหลายคนถามว่า ในวัยหนุ่มสาว เราจะป้องกันอย่างไร ไม่ให้เลนส์ตาเสื่อมไว
การป้องกันคือ
1. สวมแว่นตากันแดดที่มี UV จริงๆ เพื่อป้องกันแสงอุตตร้าไวโอเล็ต
2. หลีกเลี่ยงการรับประทานยาที่มีส่วนผสมสเตียรอยด์เป็นประจำ
3.ระมัดระวังไม่ให้เกิดการกระแทกแรงๆบริเวณใบหน้า ศีรษะ

ราคาค่าผ่าตัดในโรงพยาบาลอานันทมหิดล 5,100 บาท 
ค่าเลนส์  3,000 -6,000 บาท 
รวมค่าใช้จ่ายโดยประมาณ ขณะนอนโรงพยาบาล 2-3 วัน ประมาณ 20,000 บาท ค่ะ

 แพทย์ที่ทำผ่าตัด ใน โรงพยาบาลอานันทมหิดล 3  ท่านค่ะ ได้แก่
พ.เอกรินทร์
พ.ทัญญุตา และ พ.ฉลองชัย

เรียนเชิญคุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย ที่ทีปัญหาสายตา มาตรวจรักษาที่ OPD ตา
วันจันทร์ ถึง วันพฤหัส ค่ะ 8.00-12.00 น   เมื่อแพทย์นัดผ่าตัดแล้วพบกันที่ห้องผ่าตัดนะค่ะ

2 ความคิดเห็น: