วันเสาร์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2555

การผ่าตัดคลอดบุตรทางหน้าท้อง


  (Caesarean section)

          การผ่าที่บริเวณส่วนท้องของมารดา (ผ่าท้องและผ่ามดลูก) เพื่อให้ทารกในครรภ์คลอด  ทำเมื่อการคลอดทางช่องคลอดอาจเสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพหรือชีวิตของมารดาหรือเด็ก แต่ปัจจุบันจะมีการผ่าท้องทำคลอดตามความประสงค์ของมารดามากขึ้น
การผ่าท้องทำคลอด
          1.ผ่าตามแนวตั้งตรงกลางของมดลูก
          2.ผ่าท้องทำคลอดชนิดตัดส่วนล่างของมดลูก

ข้อบ่งชี้ของการผ่าท้องทำคลอด ได้แก่
1.การคลอดลำบาก
2.ทารกอยู่ในภาวะคับขัน (fetal distress)
3.สายสะดือย้อย (cord prolapse)
4.มดลูกแตก (uterine rupture)
5.รกผิดปกติ เช่น รกเกาะต่ำ รกลอกก่อนกำหนด หรือรกงอกติด
6.ส่วนนำของทารกผิดปกติ เช่น ท่าก้น ท่าขวาง
7.การใช้อุปกรณ์ช่วยคลอด เช่น ใช้คีมหรือเครื่องดูดสุญญากาศล้มเหลว
8.มีโรคร่วมกับการตั้งครรภ์ เช่น  โรคพิษแห่งครรภ์ระยะก่อนชัก (pre-eclampsia). ความดันโลหิตสูง  แฝดเคยคลอดทารกที่มีความเสี่ยงสูง    มารดาติดเชื้อเอชไอวี
9.ประวัติเคยผ่าท้องทำคลอด



ขั้นตอนในการผ่าตัดคลอด

1.ท่านจะได้รับการซักประวัติการเจ็บป่วยและโรคประจำตัว
2.ลงชื่อในหนังสือแสดงความยินยอม
3.ให้สายน้ำเกลือเข้าหลอดเลือดดำที่แขน
4.ได้รับการสวนอุจจาระ
5. ใส่สายสวนไว้  ใน กระเพาะปัสสาวะ  เพื่อระบายปัสสาวะ (ใส่ไว้ประมาณ 12-24 ชั่วโมงหลังการผ่าตัด)
6.โกนขนบริเวณหัวหน่าวเพื่อเตรียมรับการผ่าตัด
7.งดอาหารก่อนการผ่าตัดอย่างน้อย 6-8  ช.ม.



การเตรียมการสำหรับการผ่าตัดคลอด

              ปัจจุบัน เพื่อลดความเจ็บปวดและทำการผ่าตัดได้อย่างได้ผล  สูติแพทย์จะแนะนำให้ดมยาสลบหรือฉีดยาเข้าไขสันหลัง โดยจะไม่รู้สึกเจ็บระหว่างผ่าตัด แต่การดมยาสลบ คุณแม่จะไม่มีส่วนร่วมในการคลอด ไม่สามารถเห็นหน้าลูกทันทีที่เขาคลอด เพราะจะหลับไม่รู้ตัวและฟื้นตัวอีกทีหลังคลอด คุณแม่ส่วนใหญ่ จึงไม่เลือกวิธีนี้ อีกทั้งยาสลบอาจมีผลต่อลูกได้ เช่น ลูกคลอดแล้วไม่ร้อง ไม่ค่อยหายใจ เพราะเขาได้รับยาสลบเข้าไปด้วย ส่วนการฉีดยาเข้าไขสันหลังหรือบล็อกหลัง(การฉีดยาเข้าช่องเหนือช่องน้ำไขสันหลังหรือการฉีดยาเข้าช่องน้ำไขสันหลัง)
นั้น ทารกไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด เพราะไม่ได้ดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด เพียงแต่จะทำให้ส่วนล่างชา ไม่มีความรู้สึกเจ็บปวด แต่คุณแม่สามารถรับรู้ได้ทุกอย่าง พร้อมทั้งได้ยินเสียงลูกและได้เห็นหน้าลูกทันทีที่เขาคลอดออกมา


การผ่าตัดคลอด

        เมื่อวิสัญญีแพทย์ทำการบล็อกหลัง จนยาชาออกฤทธิ์ แพทย์จะเริ่มลงมือผ่าตัดด้วยการผ่าเปิดหน้าท้องเพื่อให้สามารถมองเห็นทารกที่อยู่ในถุงน้ำคร่ำ และนำทารกออกจากถุงน้ำคร่ำ    การผ่าตัดนำบุตรออกจากท้องจะใช้เวลาอย่างรวดเร็วภายใน  3-5 นาทีโดยที่คุณแม่จะรู้สึกถึงแรงกดเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เมื่อนำรกออกจากครรภ์จนหมดแล้ว แพทย์จะเย็บปิดมดลูกและหน้าท้องด้วยรอยเย็บที่ประณีต  ใช้เวลาประมาณ  30-45  นาที หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่จะพากลับไปยังห้องรอฟื้นจนอาการปกติ จึงนำกลับหอผู้ป่วย






การดูแลลูกน้อย

      ระหว่างที่แพทย์ทำการเย็บแผล  ทารกจะถูกนำไปไว้ใน “ตู้อบ”  ที่ อบอุ่นขนาดเล็ก เพื่อให้กุมารแพทย์ดูดเสมหะ เช็ดตา ตัดสายสะดือ ชั่งน้ำหนัก ทำการตรวจร่างกายทารก ถ้ามีสุขภาพแข็งแรง แพทย์จะห่อตัวลูกด้วยผ้าห่มและส่งให้คุณแม่ชื่นชมขณะนอนผ่าตัด แล้วจึงนำทารกไปดูแลห้องเด็กอ่อน

การฟื้นตัวจากการผ่าตัดคลอด

         โดยส่วนใหญ่ จะฟื้นตัวได้ภายใน 24 ชั่วโมง และออกจากโรงพยาบาลได้ภายใน 3 วัน แต่ใช้เวลาประมาณ 6  สัปดาห์เพื่อให้รอยแผลจากการผ่าตัดคลอดหายดี ดังนั้น คุณแม่จะต้องได้รับความช่วยเหลือเป็นพิเศษเมื่อกลับไปพักฟื้นที่บ้านเพื่อที่จะได้พักผ่อนและใช้เวลาอยู่กับลูกน้อยได้อย่างเต็มที่

ความเสี่ยงและผลข้างเคียงของการตรวจรักษา

  •   เสียเลือดมากกว่าการคลอดทางช่องคลอดถึง 2 เท่า
  •   อาจเกิดภาวะติดเชื้อ
  •   อาจบาดเจ็บต่ออวัยวะข้างเคียง เช่น กระเพาะปัสสาวะ  หลอดไต หรือ ลำไส้
  •   ความเสี่ยงจากการให้ยาชาเข้าไขสันหลัง  หรือ ดมยาสลบ
  •   เจ็บแผลนานกว่าการคลอดแบบธรรมชาติ

ระยะเวลาที่แผลจะหาย

             จะใช้เวลาประมาณ  2 - 4  สัปดาห์ แผลที่เย็บไว้จึงจะสมานเข้าด้วยกัน แต่ก็อาจแตกต่างกันไปในแต่ละคน อย่างไรก็ตาม แผลเย็บจะค่อยๆ สมานเข้าด้วยกันซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 2 - 12 สัปดาห์ขึ้นอยู่กับลักษณะของการเย็บ   สิ่งสำคัญคือขอให้คุณแม่ดูแลความสะอาดของแผลเป็นอย่างดี เพื่อให้กลไกของร่างกายสมานแผลเข้าด้วยกันโดยไม่มีปัญหา เช่น ไม่เกิดการติดเชื้อ


คำแนะนำในการดูแลให้แผลสมานตัวเร็วขึ้นหลังคลอดลูก

  •    เปิดแผลผ่าตัด หรือ ถูกน้ำได้หลังผ่าตัดประมาณ  7  วัน รักษาความสะอาดและคอยดูแลให้แผลแห้ง
   •    ควรผ่อนคลายและอย่าทำกิจกรรมที่ต้องใช้แรงมากนัก

  •    ต้องระวังอย่าให้ผ้าอนามัยไปขูดสีกับแผลที่เย็บไว้ และควรเปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อยๆ

  •    คุณแม่ควร รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ อย่างสม่ำเสมอ โดยเน้นที่อาหารที่มีกากใยสูงและดื่มน้ำมากๆ เพื่อไม่ให้ท้องผูก
  •    ออกกำลังกายปกติได้หลัง  6  สัปดาห์

   *** ถ้าเจ็บตึงบริเวณแผลมาก หรือสงสัยว่าอาจมีการอักเสบติดเชื้อ ควรรีบไปพบสูติแพทย์ทันที

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น