วันพุธที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2555

ไส้เลื่อน (Hernia)



          ภาวะที่ลำไส้เคลื่อนที่ออกจากช่องท้องมาสู่ภายนอกพบมาก บริเวณขาหนีบและบริเวณลูกอัณฑะ ในเพศชาย เกิดจากการที่ผนังบุช่องท้องมีความอ่อนแอ และความดันภายในช่องท้องดันเอาลำไส้ออกมาตรงตำแหน่งที่ผนังบุช่องท้องที่อ่อนแอนั้น บางครั้งลำไส้อาจเคลื่อนกลับเข้าไปในช่องท้องได้ก็จะไม่มีอาการอะไร ถ้าหากลำไส้ที่เคลื่อนออกมาแล้วกลับเข้าไปในช่องท้องไม่ได้ จะทำให้รู้สึกหน่วงๆ เวลายืนหรือเดิน ถ้าเกิดเป็นเวลานานๆ ลำไส้เคลื่อนออกมาขาดเลือดมาเลี้ยงจะทำให้ลำไส้ตาย และเน่าได้จะก่อให้เกิดอาการปวดอย่างรุนแรงได้   
 
 
ปกติอวัยวะเช่นลำไส้ ตับจะถูกปกคลุม โดยเยื่อหุ้มช่องท้องที่เรียกว่า peritonium และมีพังผืดหรือกล้ามเนื้อหุ้มอีกชั้น เพื่อป้องกันอวัยวะภายใน ปกติจะมีรูที่ให้ท่อรังไข่ และท่อนำเชื้อในผู้ชายผ่านทางรู เมื่อมีความอ่อนแอของพังผืด ไส้ก็จะเลื่อนออกมาที่ขาหนีบ ซึ่งมีสองชนิดคือ indirect inguinal hernia และ direct inguinal hernia



Indirect inguinal hernia

     ขณะเป็นตัวอ่อนในท้อง อัณฑะจะอยู่ในช่องท้อง เมื่ออายุครรภ์ได้ 7 สัปดาห์อัณฑะจะเคลื่อนที่ออกจากช่องท้องมาอยู่ในถุงอัณฑะ และรูหรือทางที่มันเคลื่อนที่จะปิด แต่เด็กผู้ชายบางคนทางเดินและรูมันไม่ปิดทำให้ลำไส้เคลื่อนสู่ถุงอัณฑะที่เราเรียกว่าไส้เลื่อนซึ่งมักจะพบในผู้ชาย สำหรับผู้หญิงก็เกิดโรคนี้ได้เหมือนกัน โดยรูที่เปิดเกิดจากเยื่อที่ยึดมดลูก round ligament มีการเคลื่อนตัวเหมือนอัณฑะ ไส้เลื่อนชนิดนี้พบบ่อยที่สุด

Direct inguinal hernia

         ลำไส้ไม่เคลื่อนออกจากช่องท้องบริเวณพังผืดที่หย่อนที่สุด โดยมีปัจจัยส่งเสริมคือมีความดันในช่องท้องเพิ่มมากขึ้น เช่นตับแข็งและมีน้ำในช่องท้อง หรือพวกถุงลมโป่งพองไอมากๆ  ไอเรื้อรัง คนท้อง คนอ้วน ท้องผูก ต่อมลูกหมากโตทำให้ต้องเบ่งเมื่อปัสสาวะ ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงช่วยให้เกิดไส้เลื่อน


อาการ

   มีก้อนที่บริเวณขาหนีบ จะโตขึ้นเวลายกของหนักหรือไอแรงๆจะทำให้ก้อนโผล่ออกมา และอาจจะรู้สึกมีเสียงเคลื่อนไหวของลำไส้เหมือนเวลาเราหิวข้าว เมื่อนอนลง หรือจับก้อนยัดเข้าไปในรูก้อนจะหายไป

อาการที่ควรมาพบแพทย์  

   ปวดปวดบริเวณไส้เลื่อน  ก้อนดันกลับเข้าช่องท้องไม่ได้  ปวดท้องและท้องอืด ไม่ผายลม


โรคแทรกซ้อน

  • Incarcerated hernia เป็นภาวะที่ลำไส้เคลื่อนออกมาแล้วไม่สามารถดันกลับเข้าไปในช่องท้อง
  • Strangulated hernia เป็นภาวะที่ลำไส้ในถุงมีการบิดทำให้ลำไส้เกิดการขาดเลือดไปเลี้ยงและเกิดไส้เน่าตามมา ผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้องอย่างมากแรกๆจะปวดบิดๆ คลื่นไส้อาเจียน เมื่อลำไส้เน่าจะปวดทั้งท้องปวดมากจนต้องนอนนิ่งๆ การขยับตัวก็จะปวด มีไข้ บางรายอาจจะมีอาการความดันโลหิตต่ำ
  • Bowel obstruction เกิดเมื่ออุจาระไม่สามารถเคลื่อนผ่านลำไส้นี้ไปได้ผู้ป่วยจะปวดท้องมวนๆ คลื่นไส้อาเจียน ท้องอืดไม่ผายลม
การป้องกัน

       ด้วยการทำให้ร่างกายฟิตอยู่เสมอ ออกกำลังกายถูกวิธี รักษาสภาวะโครงสร้างร่างกายให้สมดุล บริหารร่างกายแบบที่ได้ระบบการหายใจและการไหลเวียนของเลือด และบริหารกล้ามเนื้อเฉพาะมัดด้วย เน้นกล้ามเนื้อมัดลึก มัดที่เป็นหลักในการทำให้โครงสร้างมั่นคง พยุงส่วนอวัยวะต่างๆ ไว้ เช่น กล้ามเนื้อหน้าท้อง กล้ามเนื้อหลังชั้นลึก กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน

 

การรักษา

1.ระยะแรก

           ดูแลรักษาด้วยตัวเอง ได้แก่ การบริหารร่างกาย โดยเฉพาะการออกกำลังกายกล้ามเนื้อหน้าท้อง ซึ่งต้องเป็นการบริหารเฉพาะมัดกล้ามเนื้อ แต่ไม่ให้เกิดแรงดันมากที่ช่องท้อง เพราะจะทำให้เกิดแรงดันให้ไส้เลื่อนมามากกว่าเดิม ต้องได้รับคำแนะนำจากนักกายภายบำบัด

           หลีกเลี่ยงการเกิดแรงดันมากที่ช่องท้อง ได้แก่ ไม่ไอ/จามแรงๆ หากต้องไอต้องประคองหน้าท้องเอาไว้ ไม่ยกของหนักจนเกินไป กินอาหารประเภทผักผลไม้ให้มาก กินไขมันน้อย ลดการสะสมไขมันหน้าท้องเพราะจะทำให้อ่อนแรงมากขึ้น

 

    2.การผ่าตัด มี 2 แบบ

 1.Herniorrhaphyผ่าตัดบริเวณไส้เลื่อนเมื่อนำไส้กลับเข้าในช่องท้องแล้วก็เย็บซ่อมรูหรือจุดอ่อน


 
 
2. Hernioplasty วิธีนี้จะใช้แผ่นสารสังเคราะห์เย็บปิดรูหรือจุดอ่อน   วัสดุโครงร่างช่วยสร้างเนื้อเยื่อใหม่ เรียกว่า Mesh graft เพื่อช่วยผู้ป่วยผ่าตัดไส้เลื่อน ผลิตจากพอลิเมอร์สังเคราะห์ มีลักษณะเป็นร่างแหสำหรับใช้ในการปกคลุมแผลผ่าตัดแทนการใช้เนื้อจากผนังช่องท้องของผู้ป่วยมาปิด พอลิเมอร์ชนิดนี้จะกระตุ้นการสร้างเนื้อเยื่อใหม่ขึ้นมาห่อหุ้มบริเวณแผลผ่าตัดจนกลายเป็นเนื้อเดียวกัน และวัสดุดังกล่าวจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อเยื่อใหม่ทันที โดยไม่เกิดพิษใดๆ  อัตราการกลับเป็นซ้ำของโรคลดลงถึงร้อยละ 1-10
 
 
 
 
รพ.อานันทมหิดล ยังไม่มีการใช้กล้องผ่าตัด โรคนี้นะค่ะ เพราะไม่คุ้มค่า โอกาสเกิดใหม่ได้มากกว่าการผ่าแบบ เปิดบริเวณขาหนีบ แผลไม่น่าเกิน 2 นิ้วค่ะ  มีผู้ป่วยมาผ่าตัดกันเยอะค่ะ ไม่ต้องกลัว คุณหมอ  คุณพยาบาล ใจดี ทุกคนค่ะ
 
การปฏิบัติตัวหลังผ่าตัดและเมื่อกลับบ้าน
1.ไม่ให้แผลเปียกชื้น จนกว่าจะตัดไหม
2. ห้ามแกะ เกา ล้วงบริเวณแผล เพื่อป้องกันไม่ให้แผลติดเชื้อ หรือเป็นหนอง
3. ขณะไอหรือจามให้ใช้ฝ่ามือ หรือผ้าหนานุ่มกดประคองแผลได้
4.หลีกเลี่ยงการเบ่งถ่ายอุจจาระ หรือปัสสาวะ
5. ห้ามทำงานหนัก หรือยกของหนัก อย่างน้อย 2 เดือน
6.ดูและรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ถ้าเป็นหวัด เจ็บคอ หรือไอจามบ่อยๆ ควรรีบพบแพทย์
7.รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ รวมทั้งผัก ผลไม้ และดื่มน้ำมากๆ เพื่อไม่ให้ท้องผูก
8.ควรใส่กางเกงในที่กระชับ หรือสปอร์ตเตอร์สำหรับนักกีฬา เพื่อช่วยประคองแผล ลดความเจ็บปวด
9. ถ้ามีอาการปวดแผลมาก ควรรับประทานยาบรรเทาปวดตามแพทย์สั่ง
10.ควรสังเกตอาการผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น เช่น มีไส้เลื่อนเกิดซ้ำ แผลแยกหรือบวม แผลมีน้ำเหลืองซึม มีไข้ ปวดท้อง ให้รีบมาพบแพทย์
พบกันใหม่ เรื่องต่อไปนะค่ะ

1 ความคิดเห็น:

  1. แต่เดิมเป็นคนที่ออกกำลังกายโดยการยกเวท สร้างกล้ามเนื้อ ถ้าผ่าตัดแล้วพักรักษาตัว6เดือน จะกลับไปเล่นเวทได้อีกหรือไม่คะ

    ตอบลบ